ภารกิจหลักของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เปรียบเสมือนจักรกลเล็กๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศให้สามารถสู้กับประเทศต่างๆ ในตลาดโลกได้ สถาบันฯ เป็น Not-for-Profit Organization กล่าวคือเป็นองค์กรที่ ไม่ได้มุ่งเน้นการทำกำไร แต่ต้องมีผลการดำเนินการที่ไม่ขาดทุน ต้องสามารถบริหารจัดการให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยืนอยู่ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนได้ตลอดไป ดังนั้นสิ่งที่ยากและท้าทายอย่างมากคือการที่จะบริหารงานอย่างไรให้มีการเจริญเติบโตไปพร้อมกับผลกำไร ซึ่งเป็นการบริหารที่ไปกันคนละแนวทาง หรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นการสวนทางกัน การที่จะให้มีการเติบโต องค์กรจะต้องค้นหาโอกาส และ ขีดความสามารถ (Competency) ใหม่ๆ ต้องกล้าที่จะเสี่ยง และจะต้องกล้าที่จะลงทุน ขณะที่การทำให้มีกำไร ต้องไขว่คว้าจากโอกาส และ ขีดความสามารถที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระบบและกระบวนการที่ต้องการทำให้องค์กรมีกำไรสูงสุด ไม่เอื้ออำนวยหรือสนับสนุนต่อการที่องค์กรจะไปลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต
สถาบันฯ เป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านการให้การรับรองทางด้านมาตรฐานการจัดการ ซึ่งเหมือนกับองค์กรอื่นๆ ที่ต้องผจญอยู่ในยุคที่มีอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงในแทบทุกๆ ด้านที่เร็วมาก ทั้งด้านความต้องการใหม่ๆ ของผู้ใช้บริการที่มากขึ้น ด้านกระบวนการภายในที่จะต้องตอบสนองความต้องการใหม่ๆเหล่านั้น บุคลากรของสถาบันฯ ก็ต้องเรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะความสามารถที่จะสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าเหล่านั้น และที่สำคัญสถาบันฯ จะต้องสร้างรูปแบบของธุรกิจ (Business Model) ใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยที่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของ Global Trends เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน อันจะทำให้เกิดการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
สถาบันฯ มีการบริหารในลักษณะบูรณาการ มีการกำหนด ยุทธศาสตร์ ทิศทางที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีกระบวนการสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ทุกระดับทราบ ถึงวิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ขององค์กร รวมถึงของแต่ละหน่วยธุรกิจที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน (Aligned) ตัวชี้วัด เป้าหมาย และโครงการต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละคนรับผิดชอบ และสนับสนุนให้องค์กรประสบความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้ สถาบันฯ ตระหนักดีว่า การที่จะบริหารจัดการให้สถาบันฯ ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จะต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ที่ถูกต้อง ที่สำคัญไม่ว่าสถาบันฯ จะมีกลยุทธ์ที่ดีเพียงใด หากสถาบันฯ ไม่สามารถ Execute กลยุทธ์เหล่านั้นได้ ก็ไม่มีความหมายใดๆ สถาบันฯ จึงได้นำเอา Balanced Scorecard หนึ่งในเครื่องมือสมัยใหม่ในการดำเนินการ Strategy Execution มาใช้ในสถาบันฯ ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญมากต่อผลสำเร็จที่ก้าวกระโดดของสถาบันฯ ในช่วงระยะหลังๆ นี้ และจากประสบการณ์เหล่านี้ รวมทั้งการได้ร่วมมือกับผู้คิดค้นเครื่องมือการบริหารเหล่านี้ สถาบันฯ ได้นำไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ