ไอเอสโอพัฒนามาตรฐานเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน

ISO-and-Circular-Economy

จากข้อมูลของมูลนิธิเอลเลน แมคอาร์เธอร์ คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะมีจำนวนมากกว่าปลา และสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้ระบุว่าหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ การก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนนั่นเอง ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยมีนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นการออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ เป็นการสร้างคุณค่าขึ้นใหม่ ทำให้เกิดของเสียน้อยลงและมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแอนเดอร์ส ไวค์มาน อดีตเอกอัครราชทูตของกระทรวงต่างประเทศ​สวีเดน อดีตผู้ช่วยเลขาธิการและผู้อำนวยการด้านนโยบายของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)  เลขาธิการสมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติสวีเดน และสมาชิกสภาสหภาพยุโรป ได้กล่าวไว้ว่า

“ถ้าทั้งโลกมีเป้าหมายร่วมกันจริงๆ เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเสียใหม่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ในการที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน แคทเธอรีน เชอโวช ประธานคณะกรรมการของไอเอสโอในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่าจำเป็นต้องมีโมเดลทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ธุรกิจก็จำเป็นต้องมีโมเดลธุรกิจใหม่ สิ่งที่ยังขาดอยู่คือการมีวิสัยทัศน์ระดับโลกว่าจริงๆ แล้วเศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร รวมทั้งโมเดลที่องค์กรต่างๆ สามารถรับเอาไปใช้ได้

ปัจจุบัน ไอเอสโอมีคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 323, Circular economy ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ 65 ประเทศและกำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แนวคิดสำหรับคณะกรรมการเริ่มต้นด้วยการสัมมนาที่ AFNOR สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส จัดขึ้น โดยมีผู้นำทางธุรกิจจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมแสดงความต้องการในการเปลี่ยนไปใช้รูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาแล้วก็คือ มาตรฐานของประเทศฝรั่งเศส XP X30-901, Circular economy – Circular economy project management system – Requirements and guidelines ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2561 และมีเสียงสะท้อนในทางที่ดีจนกระทั่งมีการจัดตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 323, Circular economy

คณะกรรมการวิชาการตั้งใจจะสร้างชุดของหลักการที่เห็นพ้องต้องกันในระดับสากลสำหรับคำศัพท์ กรอบการทำงานของเศรษฐกิจหมุนวียน และพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการ และจะพิจารณารูปแบบธุรกิจทางเลือกและวิธีการวัดและประเมินเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย

แคทเธอรีน กล่าวว่ามีความเร่งด่วนที่จะต้องก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากผลกระทบของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังจะหมดไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมกันในประเทศต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปแบบการผลิตและการบริโภคของประชากรโลก และคณะกรรมการต่างก็เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องพัฒนามาตรฐานในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

คณะกรรมการ ISO/TC 323, Circular economy มีเป้าหมายที่จะเปิดเผยทุกแง่มุมของเศรษฐกิจหมุนเวียนรวมทั้งการจัดซื้อภาครัฐ การผลิต การกระจาย และตลอดทั้งช่วงชีวิตรวมทั้งในเรื่องที่กว้างขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนสังคม และการประเมิน เช่น ฟุตพริ้นท์ของระบบหมุนเวียนหรือดัชนีชี้วัด เป็นต้น

คณะกรรมการวิชาการนี้จะได้รับประโยชน์จากคณะกรรมการวิชาการไอเอสโออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งได้ทุ่มเทให้กับการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก เช่น การจัดซื้ออย่างยั่งยืน การจัดการคุณภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การทำงานของคณะกรรมการวิชาการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญโดยตรงต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในหัวข้อที่ 8 การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Decent Work and economic growth) หัวข้อที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่มีความรับผิดชอบ (Responsible consumption and production) หัวข้อที่ 13 การดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (Climate action)  และหัวข้อที่ 15การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก (Life on land)

หากทั่วโลกร่วมมือร่วมใจกันก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว นอกจากลูกหลานของเราจะไม่ประสบกับปัญหาขยะพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทรแล้ว แต่ยังจะได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเดิมและมีความยั่งยืนกว่าเดิมอีกด้วย

ที่มา :

1. https://www.iso.org/news/ref2402.html
2. https://www.the101.world/circular-economy/