ศัพท์น่ารู้เพื่อบริหารจัดการน้ำให้ได้ผลในองค์กร

WATER-MANAGEMENT-SYSTEM-TERMS--YOU-NEED-TO-KNOW

ปัจจุบัน มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้แต่ละองค์กรนำมาใช้ในการบริหารจัดการภายในองค์กร พร้อมรับมือกับสถานการณ์การลดลงของปริมาณน้ำและการขาดแคลนน้ำ โดยมาตรฐานต่าง ๆ ประกอบด้วยคำศัพท์ แนวคิด และหลักการ ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะการประกอบกิจการของตน

การใช้น้ำเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมในบริบทการจัดการน้ำ ลักษณะการใช้น้ำมีศัพท์ที่น่ารู้ 2 คำ ได้แก่ ปริมาณน้ำทั้งหมดที่ใช้ (Water use) และการใช้น้ำ (Water consumption)  

ปริมาณน้ำทั้งหมดที่ใช้ (Water use) หมายถึง ปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการหรือการดำเนินงานขององค์กรทั้งหมด รวมถึงน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำหมุนเวียน ซึ่งมีหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตรหรือลิตร

โดยทั่วไปแล้ว  ในการรายงานปริมาณน้ำที่ใช้มักจะมีการรายงานเป็นต่อหน่วยตัวชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ลูกบาศก์เมตร/กิโลกรัมของผลิตภัณฑ์, ลิตร/คน หรือ ลูกบาศก์เมตร/ห้องพัก โดยจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป

สำหรับคำว่า การใช้น้ำ (Water consumption) ที่หากอ้างถึงปริมาณการใช้แล้วอาจมีน้อยกว่าปริมาณน้ำทั้งหมดที่ใช้ (Water use) เนื่องจากน้ำบางส่วนอาจติดไปกับผลิตภัณฑ์หรือระเหยไปในบรรยากาศ ทำให้ไม่สามารถคืนสู่แหล่งน้ำดั้งเดิมหรือนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว การใช้น้ำตลอดทั้งกระบวนการผลิตหรือการบริการขององค์กรนั้น ปริมาณน้ำที่ใช้หรือปริมาณน้ำไหลเข้า (Inflow) ต้องมีค่าเท่ากับปริมาณน้ำไหลออก (Outflow) เสมอ ซึ่งประเมินได้โดยการทำสมดุลน้ำ (Water balance) ใช้ในกรณีต้องการคำนวณหาปริมาณน้ำที่องค์กรใช้จริง และนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจวางแผนการปรับปรุง พัฒนาสมรรถนะของการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ แนวคิดวัฏจักรชีวิต (Life cycle) ซึ่งเป็นที่นิยมในวงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ในบริบทของการประเมินผลกระทบจากการใช้น้ำ เรียกว่าการประเมินวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ (Water Footprint) ของผลิตภัณฑ์ ทำได้โดยการวิเคราะห์หาปริมาณการใช้น้ำเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนผลิต การส่งมอบผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภค จนกระทั่งการกำจัดซากหลังการใช้งาน โดยนิยมวัดในหน่วยของปริมาณน้ำที่ใช้ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ (Functional Unit) ตัวอย่างเช่น ลิตร/ผลิตภัณฑ์ 1 หน่วย

สำหรับในแง่มุมของการวัดประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กร มีตัวชี้วัด 2 ประเภทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตัวชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจ (Business activity indicator) ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น การกำหนดตัวชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้น้ำของแต่ละกิจการ เช่น กิจการ ประเภทอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ตัวชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจอาจกำหนดเป็นปริมาตรหรือมวลของผลิตภัณฑ์ กิจการประเภทสำนักงาน โรงพยาบาล ตัวชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจอาจกำหนดเป็นจำนวนพนักงานหรือจำนวนคนที่ใช้บริการ และกิจการประเภทธุรกิจโรงแรม อาจกำหนดตัวชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจเป็นจำนวนห้องที่มีผู้เข้าพัก เป็นต้น ตัวชี้วัดอีกประเภทสำหรับอ้างถึงปริมาณน้ำสุทธิใช้ในกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ แต่ไม่รวมปริมาณน้ำที่มีการรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ศัพท์ใช้คำว่า ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Water efficiency indicator) ซึ่งจะแสดงถึงปริมาณน้ำที่ใช้จริงต่อหน่วยตัวชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจ (BAI: Business activity indicator) ตัวอย่างเช่น โรงงานแห่งหนึ่งมีประสิทธิภาพการใช้น้ำเท่ากับ 10 ลิตร/กิโลกรัมของผลิตภัณฑ์ แสดงว่าโรงงานแห่งนี้ได้กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้น้ำ คือ 10 ลิตร/กิโลกรัมของผลิตภัณฑ์ หากองค์กรมีการนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต มาผ่านการบำบัดให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เราเรียกน้ำนั้นว่า น้ำหมุนเวียน (Reclaimed water)

ดังนั้น ทุกองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ควรแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะของการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water efficiency performance) ขององค์กร โดยการใช้น้ำปริมาณลดลง หรือการใช้ประโยชน์จากน้ำที่องค์กรดึงมาใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด

การนำเสนอนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน  เป็นเพียงหนึ่งในชุดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ได้มีความเข้าใจในการตีความเนื้อหาเบื้องต้นด้านการจัดการน้ำได้อย่างถูกต้อง

สำหรับท่านที่สนใจแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โปรดติดตามบทความในวารสารออนไลน์ MASCI Innoversity ซึ่งจะนำเสนอเนื้อหาที่ท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อวางแผน และนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำไปปฏิบัติภายในองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิผลต่อไป

ที่มา :

  1. https://www.iso.org/standard/68286.html
  2. https://www.iso.org/obp/ui/#iso:std:iso:14046:ed-1:v1:en