MASCI มอบประกาศนียบัตรมาตรฐาน ISO 20400 ให้กับบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ซัลไฟท์ส ดีวิชั่น)”
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) มอบประกาศนียบัตรมาตรฐาน ISO 20400: 2017 แนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างยั่งยืน ให้กับบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ซัลไฟท์ส ดีวิชั่น) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ณ บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดสระบุรี นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันฯ ร่วมแสดงความยินดีกับ บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ซัลไฟท์ส ดีวิชั่น) ที่ได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐาน ISO 20400: 2017 แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน โดยมีผู้แทนจากบริษัท อดิตยาฯ Mr. Navin Kapur, Vice President Procurement และ Mr. Raj K Ojha, Chief Manufacturing Officer Joint President ให้เกียรติรับมอบประกาศนียบัตรฯ ดังกล่าวซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในการประยุกต์ข้อกำหนดของมาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับนโยบาย วัตถุประสงค์ และการพัฒนากระบวนการด้านจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรที่มีประสิทธิภาพ และแสดงถึงการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม MASCI ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จและภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพองค์กรด้านการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนของบริษัท อดิตยาฯ ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้านการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนตามหลักของการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาองค์กรและห่วงโซ่อุปทานให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเติบโตสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป
MASCI แสดงความยินดี สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้รับใบรับรอง ISO 9001
นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ มอบใบรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ มอก.9001: 2015 ให้แก่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุม Sharing สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดย พลเอก ดร.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ให้เกียรติเป็นผู้แทนรับมอบใบรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ มอก.9001: 2015 ในขอบข่าย “การบริหารโครงการ กระบวนการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศซึ่งประกอบด้วย 4 เทคโนโลยีหลัก (เทคโนโลยีจรวด เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางทหาร เทคโนโลยียานรบ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด) การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ การให้บริการฝึกอบรมด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ และการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ พันเอก จิรศักดิ์ จิ้วไม้แดง รองผู้อำนวยการสถาบันฯ นาวาอากาศโท ดร.เพิ่มศักดิ์ ศิริพละ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ และบุคลากรของสถาบันฯ การได้รับใบรับรองมาตรฐาน ISO 9001: 2015 ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศในการพัฒนาระบบการบริหารงานคุณภาพที่มีประสิทธิภาพและดำเนินการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศของภูมิภาค ตอบสนองความต้องการของกองทัพไทยและพันธมิตรอาเซียน และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศในอนาคตซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันฯ ในการเป็น “หนึ่งในผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศของภูมิภาค รวมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศสู่สากล” สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ขอแสดงความยินดีกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเนื่องในโอกาสที่ได้รับใบรับรองดังกล่าวและมีความภาคภูมิใจที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนบริการของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเพื่อก้าวสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ตามที่กำหนดไว้ต่อไป
MASCI หนุนลดโลกร้อน ร่วมพิธีประกาศมาตรการ Single-use plastic
ผู้บริหารของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) คุณปริยดา พยุงธรรม ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายบริหารกลยุทธ์ และคุณธีรกุล บุญยงค์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน ได้เข้าร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารของสถาบันมาตรฐานไอเอสโอ ได้เข้าร่วมพิธีแสดงเจตนารมณ์ในการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว (Single-use plastic) ภายในกรมฯ ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว และเป็นต้นแบบให้แก่ทุกภาคส่วนอันนำไปสู่การลดปริมาณขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอในฐานะหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ (Validation and Verification) ด้านก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการบรรเทาภาวะโลกร้อนด้วยการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการและองค์กรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อร่วมกันก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
MASCI ร่วมอภิปราย “ยกระดับผลิตภาพและกรอบมาตรฐานสำคัญที่ผลักดันให้องค์กรมุ่งสู่ความยั่งยืน”
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับเกียรติจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (FTPI) เชิญเข้าร่วมการอภิปรายในงานสัมมนา “ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนด้วย National Sustainability & Productivity Standard and Measurement” ภายใต้โครงการศูนย์สารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะด้านการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของภาคอุตสาหกรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ FTPI และ นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการ MASCI ได้เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ “ยกระดับผลิตภาพและกรอบมาตรฐานสำคัญที่ผลักดันให้องค์กรมุ่งสู่ความยั่งยืน” โดยกล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของการจัดทำมาตรฐาน National Sustainability & Productivity Standard (NSPS) Measurement รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยผู้อำนวยการ MASCI ได้กล่าวถึงแนวคิดมาตรฐาน NSPS ซึ่งมีที่มาจากการริเริ่มของ ดร. สันติ กนกนาพร อดีตเลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization: APO) และอดีตผู้อำนวยการของ MASCI และ FTPI โดยมาตรฐาน NSPS มีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ การเพิ่มผลผลิต (Productivity) ความคล่องตัว (Agility) และนวัตกรรม (Innovation) ที่ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) โดย Productivity ช่วยสร้างพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ Agility ช่วยให้ธุรกิจปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ และมีกระบวนการทำให้เกิด Innovation ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนมาตรฐานจะเป็นเครื่องมือช่วยนำกรอบแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ ผ่านกระบวนการดำเนินการที่เป็นระบบตั้งแต่การวางแผน การปฏิบัติ ตรวจสอบ และการปรับปรุง (Plan-Do-Check-Act) เพื่อมุ่งสู่ปลายทางคือการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การสัมมนาในครั้งนี้จึงถือเป็นการจุดประกายให้ภาคธุรกิจเห็นถึงความสำคัญของการนำมาตรฐาน NSPS ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งนับเป็นความท้าทาย โดย MASCI และ FTPI จะร่วมกันขยายผลมาตรฐาน NSPS และต่อยอดเป็นมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) เนื่องด้วย MASCI ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organizations: SDOs) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ FTPI จะผลักดันมาตรฐานไปสู่การยอมรับในระดับภูมิภาค (Regional) ผ่าน APO ที่มีสมาชิกรวมทั้งหมด 22 ประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงเข้ากับสิทธิประโยชน์ด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับภาคธุรกิจสู่ความยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในเวทีการค้าโลก ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
MASCI ให้การต้อนรับผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ในโอกาสการตรวจเยี่ยมสถาบันฯ
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับเกียรติจาก นายเอกนิติ รมยานนท์ และนายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ตรวจเยี่ยมสถาบันฯ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ณ ห้อง SHARING ชั้น 18 นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ โดย MASCI ได้นำเสนอวัตถุประสงค์การจัดตั้ง วิสัยทัศน์ พันธกิจ และผลการดำเนินงานที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบาย MIND ใช้ หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และ MASCI ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยมีการหารือในประเด็นต่างๆ รวมถึง การส่งเสริมการใช้มาตรฐานที่สำคัญและสอดคล้องกับการดำเนินงานในบริบทใหม่ อาทิ มาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน (ISO 37001) มาตรฐานระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ (ISO 27001) มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม (มอก. 9999) มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (มอก.14061-1) โครงการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือในประเด็นการส่งเสริมการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ การเสริมสร้างความรู้ด้านการมาตรฐานที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ให้แก่บุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การร่วมดำเนินโครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน” และการพัฒนาโครงการสำคัญ (Flagship) เพื่อปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมโดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของสถาบันเครือข่าย ซึ่งเป็นการใช้มาตรฐานในการจัดการให้เกิดความสมดุลของการดำเนินงานอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่าและมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
MASCI ร่วมกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ได้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในภาคอุตสาหกรรม โดยมี ดร. ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันเครือข่าย เข้าร่วม ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 และชั้นดาดฟ้า อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ได้รับมอบอุปกรณ์เชิงสัญลักษณ์ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จาก ดร. ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานในพิธี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดตามพระราชปณิธาน เพื่อความสุขของปวงชนชาวไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันเครือข่าย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าประสงค์ที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
MASCI จัดพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) จัดพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามมินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยนายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ กล่าวถวายพระพรชัยมงคล และร่วมกับคณะผู้บริหารและพนักงานสถาบันฯ ขับร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” และ “สดุดีจอมราชา” และจัดให้มีการลงนามถวายพระพรชัยมงคล เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ ห้อง SHARING ชั้น 18 ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
MASCI ร่วมกับสถาบันชั้นนำ จับมือ LH Bank ผลักดันผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการ” ระหว่างธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) กับ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) และบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (ABEAM) ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้ต่อไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ LH Bank สำนักงานใหญ่ โครงการเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการ (Green Transition Advisory Loan) เป็นการประสานความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัว และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยพัฒนาการดำเนินงานในภาคการผลิตและบริการด้วยการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ประหยัดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุน ในรูปแบบสินเชื่อเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green Transition Loan) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ LH Bank ได้กล่าวว่า LH Bank มีนโยบายให้ความสำคัญกับการสนับสนุน SMEs ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดย GDP ของ SMEs มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศ ทั้งนี้ กลุ่ม SMEs เป็นส่วนหนึ่งของ Global Value Chain หากไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกจากมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการ EEI ได้กล่าวว่า EEI มีบทบาทในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Green Transition อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในกระบวนการผลิต การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งระดับองค์กร (CFO) และผลิตภัณฑ์ (CFP) การใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) นางสาวสุปรีดา จิราวงศ์ศรี ผู้บริหารระดับสูง ABEAM ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำระดับโลก ได้กล่าวว่า ABEAM พร้อมสนับสนุนให้บริการที่ปรึกษาแบบครบวงจรด้านระบบประเมินการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission Assessment) พร้อมการจัดทำรายงานให้แก่ลูกค้าของธนาคาร เพื่อประมาณการการลงทุนได้อย่างแม่นยำ และสามารถใช้ข้อมูลจากรายงานเพื่ออ้างอิงในการยื่นขออนุมัติสินเชื่อ นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการ MASCI ได้กล่าวถึงบทบาทของ MASCI ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวว่าในฐานะหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ (Validation and Verification) ด้านก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานระดับประเทศและสากลที่เป็นที่ยอมรับ ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของโครงการในครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานสากลและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน CFO หรือ T-VER เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
OIE และ MASCI จัดสัมมนา “กรอบแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG”
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ./OIE) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ./MASCI) ดำเนินงาน “โครงการสร้างระบบข้อมูลและองค์ความรู้ด้านมาตรฐานระบบการจัดการและการเตือนภัย ปีงบประมาณ 2567” ซึ่งได้มีการจัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “กรอบแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตาม ESG” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ กรุงเทพฯ OIE มีบทบาทในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อมในการรับมือกับอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าของประเทศต่างๆ มีการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวด้านมาตรฐานและกฎระเบียบ การปรับปรุงฐานข้อมูลเดิมให้ทันสมัยอยู่เสมอ จึงได้มอบหมายให้ MASCI จัดทำและดำเนิน “โครงการสร้างระบบข้อมูลและองค์ความรู้ด้านมาตรฐานระบบการจัดการและการเตือนภัย ปีงบประมาณ 2567” เพื่อให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแนวโน้ม ความเคลื่อนไหว และผลกระทบจากการประกาศใช้มาตรฐานและกฎระเบียบที่สำคัญอันเป็นการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างทันท่วงที โดยแจ้งผ่านศูนย์ข้อมูลองค์ความรู้ด้านมาตรฐานระบบการจัดการและการเตือนภัย และจัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “กรอบแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตาม ESG” ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ MASCI โดยนายสำราญ สอนผึ้ง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารงานทั่วไป และนางกัสมา วารีรักษ์จรุงกิจ ผู้จัดการแผนกอาวุโส แผนก Business Excellence ร่วมบรรยายกรอบแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG และแนวโน้ม ความเคลื่อนไหวและผลกระทบจากการประกาศใช้ มาตรฐาน/กฎระเบียบที่สำคัญ สำหรับโครงการฯ ในปีนี้ เน้นการศึกษา`เชิงลึกในประเด็นที่อยู่ในความสนใจ คือ การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานที่สำคัญ 3 มิติ ได้แก่ มิติสิ่งแวดล้อม (E: Environmental) มิติสังคม (S: Social) และมิติธรรมาภิบาล (G: Governance) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ESG ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถนำแนวทางไปประยุกต์ใช้ ปรับตัว และเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป ท่านสามารถติดตามข่าวสาร องค์ความรู้ ข้อมูลเชิงลึก ฐานข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการและมาตรฐานอื่นๆ รวมถึงกฎระเบียบทางการค้าในระดับสากล ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยด้านมาตรฐานระบบการจัดการให้แก่ผู้ประกอบการไทย ผ่านศูนย์ข้อมูลด้านมาตรฐานระบบการจัดการ (MASCI Standard Intelligence) ที่ https://intelligence.masci.or.th และ Facebook https://www.facebook.com/MASCIIntelligence ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
MASCI ร่วมยินดี OR ได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน 4 ระบบ
นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมแสดงความยินดีกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด มหาชน (OR) ในโอกาสได้รับการรับรองระบบการจัดการจาก MASCI 4 ระบบ ได้แก่ ระบบบริหารงานคุณภาพ มอก. 9001-2559 (ISO 9001:2015) ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม มอก. 14001-2559 (ISO 14001:2015) ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มอก. 45001-2561 (ISO 45001:2018) และระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ISO 22301:2019 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กรุงเทพฯ OR โดยนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้เกียรติเป็นผู้แทนรับมอบใบรับรองระบบการจัดการดังกล่าว ซึ่งการได้รับการรับรองทั้ง 4 มาตรฐาน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารและการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับในการพัฒนาระบบบริหารจัดการของ OR ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและมีการบริหารจัดการแบบองค์รวม โดยให้ความสำคัญต่อการบริหารงานคุณภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัย รวมถึงการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการส่งมอบผลิตภัณฑ์/บริการให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรในการเป็นผู้นำด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ MASCI ขอแสดงความยินดีและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาและบูรณาการมาตรฐานระบบการจัดการ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการของ OR ให้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายทางธุรกิจในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และสร้างความเชื่อมั่นในระบบนิเวศธุรกิจให้สอดรับกับเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน” ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
ด่วน! DPIM หนุนเหมืองแร่รักษ์โลก รับสมัครอุตสาหกรรมเหมืองแร่เข้าร่วมโครงการ CSR-DPIM ปี 2567
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร./DPIM) เปิดตัว “โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM)” ประจำปี 2567 และจัดให้มีพิธีมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรเชิดชูผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ที่เข้าร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CSR-DPIM ประจำปี 2566 พร้อมทั้งการสัมมนาและรับสมัครเข้าร่วมโครงการ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซนจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ กพร. ได้มอบหมายให้สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ./MASCI) ดำเนินโครงการ CSR-DPIM ประจำปี 2567 และพิธีมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ โดยได้รับเกียรติจาก นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดี กพร. เป็นประธาน และมีสถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่ที่ได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตร CSR-DPIM ประจำปี 2566 รวม 5 ประเภทรางวัลตามเกณฑ์การดำเนินงานมาตรฐาน CSR-DPIM ในระดับ Gold ระดับ Silver ระดับ Platinum สถานประกอบการที่เป็นสมาชิก CSR-DPIM Network ซึ่งผ่านเกณฑ์ประเมินมากกว่า 80% และรางวัลบุคลากรดีเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม CSR-DPIM (One Mine One Person: OMOP) รวมทั้งสิ้น 108 รางวัล กพร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานมีความตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมดังกล่าวซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน จึงได้ดำเนินโครงการ CSR-DPIM มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่สามารถประกอบกิจการโดยอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยมีสถานประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานผ่านเกณฑ์การพิจารณาตามมาตรฐาน CSR-DPIM จำนวน 153 แห่ง และมีการจัดตั้งเครือข่าย CSR-DPIM ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนโดยรอบสถานประกอบการ การขยายผลการดำเนินงานร่วมกับชุมชน ตลอดจนสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิผล สถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่ที่เข้าร่วมโครงการ CSR-DPIM ในปี 2567 จะได้เรียนรู้และพัฒนาองค์กรตามเกณฑ์มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ และเมื่อสถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่มีผลการทวนสอบตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับรางวัล CSR-DPIM ปี 2567 จาก DPIM และสามารถเตรียมความพร้อมเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานสากล ISO 26000 แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป สถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สามารถศึกษารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของ MASCI https://shorturl.at/kMxLt หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่คุณนภาวรรณ ดีปานแก้ว โทรศัพท์ 0-2617-1727 ต่อ 206 E-mail: naphawan@masci.or.th ปิดรับสมัครภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
MASCI ร่วมกิจกรรมทำความดีด้วยหัวใจเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ได้เข้าร่วมกิจกรรม “ทำความดีด้วยหัวใจเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ของกระทรวงอุตสาหกรรม ณ บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดย ดร. ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารและบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันเครือข่าย เข้าร่วมกิจกรรม เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ขอบคุณภาพจากกระทรวงอุตสาหกรรม กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อสานต่อพระราชปณิธาน ทำความดีถวายพระราชกุศล โดยจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตและพิธีมอบกล้าต้นรวงผึ้งและต้นดาวเรืองให้แก่ผู้บริหารระดับสูง ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันเครือข่าย พร้อมนำต้นรวงผึ้งที่ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรี มาปลูกไว้บริเวณลานองค์พระนารายณ์ในพื้นที่กระทรวง ซึ่งสอดรับกับโครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในภาคอุตสาหกรรม ขอบคุณภาพจากกระทรวงอุตสาหกรรม ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
MASCI ร่วมรับฟังนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาส ADB เข้าพบ เพื่อหารือความร่วมมือสนับสนุน SMEs ไทยปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับนายสก็อตต์ มอร์ริส รองประธานฝ่ายกำกับดูแลกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) พร้อมคณะ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง ADB กับประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนเพื่อพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทยให้ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก.1 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้บริหารสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ได้เข้าร่วมรับฟังนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs สู่ความยั่งยืน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้มแข็งและให้มีผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) ที่สูงขึ้น ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวและประกอบอาชีพใหม่ภายใต้กติกาสากลได้อย่างยั่งยืน และส่งต่อสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป โดยกระทรวงฯ ยินดีรับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจาก ADB และร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ SME D Bank และสถาบันเครือข่าย รวมถึง MASCI เพื่อดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ขอขอบคุณภาพจากกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหาร ADB กล่าวถึงความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ADB ในฐานะธนาคารเพื่อการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ (Climate Bank) สําหรับเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งมีประสบการณ์ในการก่อตั้ง Green Finance Facility ยินดีให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางเทคนิค และเงินกู้สีเขียว เพื่อส่งเสริม SMEs ให้สามารถปรับตัวเข้าสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Bio-Circular-Green (BCG) ของรัฐบาลไทย โดยจะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานพันธมิตรในการจัดทำ Action Plan ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า เพื่อเดินหน้าในเรื่องดังกล่าว โดย MASCI ในฐานะหน่วยทวนสอบด้านความยั่งยืน จะมีส่วนร่วมในการจัดทำ Action Plan รวมถึงการพิจารณาโครงการเงินกู้สีเขียว และการติดตามผลการดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ขอขอบคุณภาพจากกระทรวงอุตสาหกรรม MASCI จะร่วมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การกำหนดกรอบการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ตามกรอบ “Driving Green Transformation for Thai SMEs” การตรวจสอบความใช้ได้ (Validation) ของโครงการด้านความยั่งยืน และทวนสอบ (Verification) การดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนของผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) โดย MASCI มีความเชี่ยวชาญในการทวนสอบด้านความยั่งยืน รวมถึงด้านก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
MASCI ร่วมยินดี AR Group ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการศูนย์ติดต่อลูกค้า ISO 18295-1 และเกียรติบัตร Call Center ดีเด่น
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ร่วมแสดงความยินดีกับ บริษัท กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ช จำกัด (AR Group) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการศูนย์ติดต่อลูกค้า (Customer Contact Centres) ISO 18295-1: 2017 และเกียรติบัตรศูนย์รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค (Call Center) ระดับดีเด่น เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ณ อาคาร เอ็มเอส สยาม กรุงเทพฯ นายศรัณย์ รักษ์เผ่า ผู้อำนวยการสำนักแผนและการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มอบเกียรติบัตรศูนย์รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค (Call Center) ระดับดีเด่น และนายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ มอบใบรับรองมาตรฐานระบบการจัดการศูนย์ติดต่อลูกค้า (Customer Contact Centres) ISO 18295-1: 2017 ขอบข่าย “งานบริการ Contact Center และ Contact Center Provided” ให้บริษัท กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ชฯ โดยนายแจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ประธานบริษัทฯ และนายดนัย แสงดีจริง ผู้จัดการทั่วไป ให้เกียรติเข้ารับมอบเกียรติบัตรและใบรับรองดังกล่าว ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือในการบูรณาการการตรวจประเมินและรับรองตามมาตรฐาน ISO 18295-1: 2017 กับการประเมินตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกศูนย์รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค (Call Center) ระดับดีเด่นของ สคบ. MASCI ขอแสดงความยินดีและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพและการดำเนินระบบการบริหารจัดการของศูนย์บริการลูกค้า AR group หรือ Aconnect ให้มีการพัฒนาและยกระดับงานบริการที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องของการออกแบบกระบวนการให้บริการ การจัดเก็บและรักษาข้อมูล การแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าด้วยระบบการจัดการข้อมูลองค์ความรู้ที่สะดวกและรวดเร็ว รวมถึงการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในการบริการลูกค้าอย่างใส่ใจและมีการสร้างมาตรฐานในการบริการ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ ที่มีการพัฒนาอย่างหลากหลาย โดยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการเพื่อตอบสนองและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างเป็นระบบ ทันสมัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36
MASCI จัดสัมมนาหนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) จัดสัมมนาเรื่อง “เจาะลึกมาตรฐานไอเอสโอสู่การจัดการโรงงานสีเขียว” (In-depth ISO Standards towards Green Factory Management) และเรื่อง “อุตสาหกรรมยั่งยืน มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” (Sustainable Industries: Transformation towards Net-Zero) ในงาน Manufacturing Expo 2024 เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งตอบโจทย์นโยบาย BCG ของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค การสัมมนาเรื่อง “เจาะลึกมาตรฐานไอเอสโอสู่การจัดการโรงงานสีเขียว” ได้รับเกียรติจากวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ นางสาว ปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม นางสาวหทัยรัตน์ ฤกษ์อุดมสิน ผู้จัดการสิ่งแวดล้อม บริษัท แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) จำกัด นายภูวนัย ธรรมสถิตย์ ผู้จัดการแผนกอาวุโส แผนกบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน MASCI และนางสาวชลธิชา ชาญยุทธโยธิน หัวหน้าผู้ตรวจประเมิน MASCI ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมสีเขียวทั้ง 5 ระดับ (Green Industry: GI1 – GI5) ตามเกณฑ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งมาตรฐานไอเอสโอที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสามารถพิจารณานำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ส่วนการสัมมนาเรื่อง “อุตสาหกรรมยั่งยืน มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” ได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ศรุดา ศิริภัทรปรีชา กรรมการบริหารและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) นายธีรกุล บุญยงค์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน MASCI และดำเนินรายการโดยนางสาวณัฐพร จิระสถาวร ผู้ช่วยผู้จัดการแผนก แผนก Social Excellence ฝ่ายบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน MASCI ซึ่งกล่าวถึงกรณีศึกษาการใช้ประโยชน์จากของเสียของบริษัท ฟอร์จูน พาร์ทอินดัสตรีฯ และสามารถเปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและสร้างรายได้ให้แก่บริษัท การจัดการปัญหาภาวะโลกร้อนในประเทศไทย รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) MASCI มีความพร้อมให้บริการฝึกอบรมและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และให้บริการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทางทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) และ ISO 14064-1 และตามแนวทางการตรวจสอบความใช้ได้ และทวนสอบระดับโครงการ (T-VER) และ ISO 14064-2 ทั้งนี้ MASCI มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งองค์กรทั่วไปนำแนวคิด มาตรฐาน และวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กร และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งตอบสนองแนวนโยบาย BCG ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่อไป ติดต่อสอบถามบริการ 💻Website: www.masci.or.th 📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand 📲Line ID: @mascithailand ✉️Mail: salemasci@masci.or.th ☎️Tel: 02-6171727-36