สรอ. ได้รับการรับรองระบบงานหน่วยรับรอง ISO 45001 (มอก. 45001) รายแรกของไทย จาก กมช.

Cert17021-1CB_ISO45001

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม (สรอ.) หรือ MASCI ได้รับการรับรองระบบงาน ตามมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจประเมินและให้การรับรองระบบการจัดการหน่วยรับรองระบบการจัดการ ส่วนที่ 1 ข้อกำหนด (มอก. 17021-1-2559 (ISO/IEC 17021-1:2015)) สาขาหน่วยรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational Health and Safety Management System: OHSMS) ตามมาตรฐาน ISO 45001/มอก. 45001 จากคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (กมช.)

นางพรรณี  อังศุสิงห์  ผู้อำนวยการสถาบันฯ  พร้อมด้วยนายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สรอ. รับมอบใบรับรองระบบงานหน่วยรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001/มอก. 45001  จากนายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  โดยมีผู้บริหารและบุคลากรของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้อง 200 อาคาร สมอ. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563  โดย สรอ. เป็นหน่วยรับรอง CB: Certification Body) รายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองระบบงานหน่วยรับรอง ISO 45001/มอก. 45001 จาก กมช. และเป็นหน่วยรับรองที่ได้รับการรับรองระบบงานหน่วยรับรอง มอก. 18001 รายแรกและรายเดียวจาก กมช.

Cert17021-1CB_ISO45001-pic2

ISO 45001:2018 ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational Health and Safety Management Systems – Requirements with Guidance for Use) เป็นมาตรฐานที่ประกาศโดย ISO หรือองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (The International Organization for Standardization) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 และเป็นมาตรฐานที่จะใช้แทน OHSAS 18001:2007  โดย IAF หรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (International Accreditation Forum, Inc.) ร่วมกับ OHSAS Project Group และ ISO ได้กำหนดระยะเวลาในการปรับจาก OHSAS 18001:2007 สู่ ISO 45001:2018 เป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ประกาศใช้ ISO 45001

ISO 45001 เป็นมาตรฐานที่ใช้ได้กับทุกองค์กร โดยไม่จำกัดขนาด ประเภทและกิจกรรมขององค์กร เป็นมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และแนวทางในการนำไปใช้  เพื่อให้องค์กรสามารถปรับปรุงอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHS)  กำจัดอันตรายและลดความเสี่ยงด้าน OHS  และการใช้ประโยชน์จากโอกาสด้าน OHS   ช่วยในการส่งเสริมสถานที่ทำงานและแรงงานให้มีความปลอดภัย  การดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง  การลดต้นทุนการดำเนินงานที่เกิดจากอุบัติการณ์  เวลาที่สูญเสียจากการหยุดกระบวนการและค่าประกันภัย  การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

สรอ. ได้ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการค้าและภาคการเกษตร รวมถึงภาคการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้แก่ การตรวจประเมินและการรับรอง การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานและการตรวจ  การฝึกอบรม และการให้บริการข้อมูลองค์ความรู้และการเตือนภัยด้านมาตรฐานและกฎระเบียบ อาทิ ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001, มอก. 18001)  ระบบการจัดการตามมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001)  ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี (มอก. 2677 เล่ม 1)  ระบบการจัดการความปลอดภัยการจราจรทางถนน (ISO 39001)   การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (PSM: Process Safety Management)