สรอ. ร่วมงานแถลงข่าว “การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ด้วยการรับรองตนเอง (Self-Declaration) ในสถานประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อควบคุม ติดตามและป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ COVID-19″ โดยความร่วมมือของ อก., สอท. และ สธ.

Self-Declaration-Banner

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมแถลงข่าว “การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ด้วยการรับรองตนเอง (Self-Declaration) ในสถานประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อควบคุม ติดตามและป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยมีนายอนุทิน  ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และนายสุพันธุ์  มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ร่วมแถลงข่าว  ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  เมื่อ 21 มกราคม 2564  ซึ่งสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม (สรอ.)  หรือ  MASCI  โดยนางพรรณี  อังศุสิงห์  ผู้อำนวยการสถาบัน  ร่วมงาน

นายกอบชัย-ปกอ

การระบาดของโควิด-19 ที่สมุทรสาคร การระบาดระลอกใหม่ไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ  และแรงงานจำนวนหนึ่งในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลติดเชื้อ  ทำให้เกิดความวิตกกังวลของผู้บริโภคในด้านความปลอดภัยในการซื้อและบริโภคอาหารทะเลแปรรูป และส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ   โดยผู้ประกอบการได้เพิ่มมาตรการดำเนินมาตรฐานตามสุขอนามัยขั้นสูงสุดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้มีการจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารอย่างเข้มงวดในระดับสากล   ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการสร้างความมั่นใจในอีกระดับ โดยร่วมกันจัดทำกระบวนการรับรองตนเองและให้มีการทวนสอบ  เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคและคู่ค้า

นายอนุทิน-รัฐมนตรี-สธ        3. นายสุพันธ์ ประธาน สอท.

กระทรวงอุตสาหกรรมได้สนับสนุนภารกิจเร่งด่วนในครั้งนี้เพื่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค โดยมีสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) และสถาบันอาหาร (สอห.) อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ  ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการจัดทำเกณฑ์การประเมินตนเอง และร่วมเป็นคณะทำงานทวนสอบการรับรองตนเองของสถานประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-19 ในสถานประกอบการอุตสาหกรรม โดยการบริหารจัดการสุขอนามัยใน 3 ด้าน คือ
1) สถานประกอบการ  2) กระบวนการผลิต  และ 3) บุคลากรที่เกี่ยวข้อง  ตามมาตรฐาน IPHA: Industrial and Production Hygiene Administration

4. แถลงข่าว -1

นอกจากนี้  สรอ. จะจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมภาพรวม และความเชื่อมโยงของข้อกำหนดมาตรฐานระบบการจัดการสุขลักษณะที่ดีในสถานประกอบการ (GMP) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมในอุตสาหกรรมอาหาร (HACCP) กับเกณฑ์การประเมินตนเอง หรือ Check List การรับรองตนเอง (Self-Declaration)  และฝึกอบรมให้ความรู้แก่สถานประกอบการที่ยังไม่ได้รับการรับรอง GMP, HACCP หรือ ISO 22000 เมื่อคณะทำงานดำเนินโครงการการรับรองตนเอง (Self-Declaration) ในสถานประกอบการ ตามหลักเกณฑ์การประเมินตนเอง IPHA ได้พิจารณาเนื้อหาหลักสูตรร่วมกันแล้ว   ซึ่งจะมีการขยายผลจากมาตรการในครั้งนี้โดยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานต่อไป

ท่านชุตาภรณ์

นางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ ประธานกรรมการ คณะกรรมการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ กล่าวว่า คณะกรรมการสถาบันฯ  พร้อมส่งเสริมและสนับสนุน สรอ. ภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินภารกิจครั้งนี้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและคู่ค้าต่อมาตรการด้านสุขอนามัยของสถานประกอบการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  และการขยายผลการดำเนินการโดยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหาร และภาคการผลิตอื่น การค้า การบริการและการเกษตรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน  รวมทั้งการสร้างความตระหนักและการให้ความรู้ด้านมาตรฐานระบบ/การบริหารจัดการตามแนวทางสากล และการพัฒนาบุคลากรของสถานประกอบการและผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของคณะกรรมการสถาบันฯ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของภาคอุตสาหกรรมตามวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้ง สรอ.  และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิในเรื่องการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรฐานระบบ/การบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้สถานประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินการรวมทั้งการลดต้นทุนการและการใช้ทรัพยากร การดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง  ความปลอดภัยของบุคลากร ชุมชนและสังคม การจัดการความเสี่ยง การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมรวมทั้งสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะรองรับการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม/การผลิต การค้า การบริการและการเกษตร และช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

6. ผอ.สรอ. 7. ผอ. สอห.