ปัจจัยความสำเร็จเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

SUSTAINABLE-WATER-EFFICIENCY-MANAGEMENT

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์น้ำของโลก (World Day for Water) อันเนื่องมาจากปัญหาโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบต่อวัฏจักรน้ำบนโลกอย่างฝนแล้ง น้ำท่วม หรือภัยธรรมชาติต่างๆ และยังส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลก ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการด้วย

ปัจจุบัน สถานการณ์วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลให้บางประเทศมีน้ำใช้ลดลง ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ หรือประสบปัญหามลพิษทางน้ำหรือแหล่งน้ำเสีย  ภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกจึงปรับตัวและเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยนำวิธีการบริหารจัดการน้ำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในองค์กร เพื่อให้องค์กรอยู่รอดได้เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตน้ำ

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการทำงานกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนพบว่ามีปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่สามารถนำองค์กรไปสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และองค์กรทั่วไปสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้

ประการแรก ความมุ่งมั่นและกลยุทธ์ขององค์กร โดยการกำหนดเป้าหมาย พันธกิจ กลยุทธ์ในการบริหารจัดการน้ำขององค์กร และการประเมินความเสี่ยงของแหล่งน้ำที่นำมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านน้ำต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การบริหารเชิงกลยุทธ์จะช่วยให้องค์กรกำหนดและพัฒนาข้อได้เปรียบทางการแข่งขันขึ้นมาได้ และเป็นแนวทางที่บุคลากรภายในองค์กรรู้ว่าจะใช้ความพยายามไปในทิศทางใดจึงจะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

ประการที่สอง การบริหารจัดการน้ำ ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและควรมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ตลอดทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้วิเคราะห์ได้ง่าย สามารถวางแผนและแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำได้อย่างเป็นระบบ ตัวอย่างมาตรฐานสากลที่สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เช่น มาตรฐาน ISO 46001: 2019 ระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water efficiency management systems – Requirements with guidance for use) และมาตรฐาน  ISO 14046: 2014 การจัดการสิ่งแวดล้อม – วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ – แนวทางเชิงปฏิบัติสำหรับเอสเอ็มอี (Environmental Management – Water Footprint – A Practical Guide for SMEs)
เป็นต้น

ประการที่สาม นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจอยู่ในรูปของแนวคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ ตลอดจนผลิตผลทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในระบบงานต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำขององค์กร เช่น การหาเทคโนโลยีที่ช่วยในการบำบัดน้ำเสียให้สามารถกลับมาใช้ใหม่ หรือการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถช่วยลดการใช้น้ำในกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ดี ต้องสามารถตอบโจทย์ได้ครั้งเดียวหลายด้าน หลายกระบวนการขององค์กร

ประการที่สี่ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยองค์กรควรสร้างความรู้และความตระหนักให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้รับทราบถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำขององค์กร และควรแสวงหาโอกาสความเป็นไปได้ในการใช้ขอบเขตอิทธิพลขององค์กรในการส่งเสริมองค์กรในห่วงโซ่คุณค่าให้นำแนวปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการน้ำมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้องค์กรได้บรรลุผลตามเป้าหมายของการบริหารจัดการน้ำ โดยพิจารณาตลอดวัฐจักรชีวิต (Life Cycle Perspective)

ประการสุดท้าย เครือข่ายทางสังคมและการทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ในรูปแบบของการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ  และชุมชน หรือที่เรียกกันว่า “การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ” โดยทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือกันในการเป็นแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ ทั้งทางด้านทักษะและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งการร่วมมือกับองค์กรอื่นที่มีลักษณะธุรกิจประเภทเดียวกัน เพื่อผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพของระบบการจัดการน้ำและเป็นระบบที่ยั่งยืน

ปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้นำเสนอเพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรในการริเริ่มหรือปรับแนวทางการกำกับดูแลองค์กร กระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างโอกาส และการบริหารความเสี่ยง เช่น สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  เป็นต้น เพื่อผลักดันให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม และสามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาวิกฤตน้ำของโลกอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา :

  1. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2452315116301424
  2. http://www.wwf.or.th/what_we_do/wetlands_and_production_landscape/freshwater/
  3. https://www.unwater.org/water-facts/scarcity/