ภาวะโลกร้อนกับไวรัสโคโรน่า

CLIMATE-CHANGE--AND--CORONAVIRUS

ความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ก็คือเรื่องของสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกนั่นเอง ถึงแม้ว่าทั้งสองเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นคนละช่วงเวลา แต่ก็ส่งผลกระทบต่อโลกของเราเป็นอย่างมาก และมีสำนักข่าวต่างประเทศได้นำเสนอข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลกร้อนกับไวรัสโคโรน่าดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้นำเสนอข่าวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาซึ่งเกิดจากโรคระบาดไวรัสโคโรน่า ทำให้โรงงานต้องหยุดการผลิต  สายการบินในประเทศจีนก็หยุดให้บริการในหลายเส้นทาง และพนักงานหรือบุคลากรเป็นจำนวนมากต้องหยุดพักอยู่ที่บ้าน ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงประมาณ 25% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการคำนวณของนักวิเคราะห์ขององค์กรเอกชนแห่งหนึ่ง คือศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด

ต่อมา วันที่ 29  กุมภาพันธ์ 2563 สำนักข่าวบีบีซี ได้นำเสนอข่าวการลดระดับมลภาวะในประเทศจีนส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าเช่นกันโดยได้แสดงภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งทำให้เห็นว่าระดับมลภาวะในประเทศจีนลดลงอย่างกะทันหันซึ่งองค์การนาซา (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา) เชื่อว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากไวรัสโคโรน่า

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการลดลงของระดับไนโตรเจนออกไซด์นั้น ก๊าซพิษนี้เกิดจากกระบวนการสันดาปของเครื่องยนต์ที่ถูกปล่อยออกมาจากยานยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม  ซึ่งพบครั้งแรกว่าอยู่ใกล้เมืองอู่ฮั่น และกระจายไปทั่วประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบแผนที่ หลังจากเกิดการกักกันบริเวณผู้ป่วย การลดลงจึงเกิดขึ้นเนื่องจากโรงงานในประเทศจีนหยุดทำการผลิตเพื่อควบคุมโรค

เฟย หลิว นักวิจัยคุณภาพอากาศที่นาซ่ากล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่เราเห็นก๊าซเรือนกระจกลดลงจากปรากฏการณ์โรคระบาด

เฟย หลิวยังกล่าวด้วยว่าก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้ลดลงในหลายประเทศระหว่างที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเริ่มเมื่อปี 2551 (ค.ศ.2008) แต่การลดลงก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตว่ารอบกรุงปักกิ่งระหว่างมีการจัดกีฬาโอลิมปิคเมื่อปี 2551 ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่หลังจากกีฬาโอลิมปิคสิ้นสุดลง ระดับมลภาวะทางอากาศก็เพิ่มขึ้นอีก

การลดลงของระดับไนโตรเจนออกไซด์ในปี 2563 เกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการเฉลิมฉลองตรุษจีนในประเทศจีนและหลายประเทศในเอเชียซึ่งธุรกิจและโรงงานทั่วไปปิดทำการ และปกติระดับไนโตรเจนออกไซด์จะเพิ่มขึ้นเมื่อสิ้นสุดเทศกาลลง

ในขณะที่ตรุษจีนอาจมีบทบาทในการทำให้ระดับไนโตรเจนออกไซด์ลดลง นักวิจัยก็เชื่อว่าการลดลงนี้มีอะไรมากกว่าผลกระทบของวันหยุดหรือสภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับความแปรปรวน เพราะว่าระดับไนโตรเจนออกไซด์ในประเทศจีนตอนกลางและภาคตะวันออกก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญราว 10 – 30% ซึ่งต่ำกว่าที่มีการสังเกตการณ์ทั่วไปในช่วงนี้ ในปีนี้ อัตราการลดลงก็มีนัยสำคัญมากกว่าปีที่แล้วและคงอยู่ยาวนานกว่าเดิม เฟย หลิวจึงกล่าวว่าไม่แปลกใจเลยว่าเป็นเพราะหลายเมืองทั่วโลกได้มีมาตรการที่จะลดการแพร่กระจายไวรัสนั่นเอง

สำหรับสำนักข่าวไฟแนนเชียลเอ็กซ์เพรส วันที่  28 กุมภาพันธ์ 2563 ระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าภาวะโลกร้อนกระตุ้นให้ไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายจากสัตว์ไปสู่มนุษย์และเร่งให้เกิดการแพร่กระจายมากขึ้น  เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่างไวรัสโคโรน่ากับภาวะโลกร้อน

ปัจจุบัน ผลกระทบของโรคระบาดไวรัสโคโรน่ายังคงเกิดขึ้นเป็นระลอกและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจีน ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า และประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตลอดจนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ ด้วย

ขณะเดียวกันนี้ ปรากฏว่าทั่วโลกเริ่มทำการยกเลิกการประชุมและการแข่งขันต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรน่าไม่ให้แพร่กระจายออกไป ซึ่งทั้งโรคระบาดและภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกและภาวะผู้นำของแต่ละประเทศในการจัดการกับความท้าทายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผล

ที่มา :

  1. https://www.nytimes.com/2020/02/26/climate/nyt-climate-newsletter-coronavirus.html
  2. https://www.bbc.com/news/world-asia-51691967
  3. https://www.financialexpress.com/opinion/relation-between-coronavirus-and-global-warming-climate-crisis-changes-disease-pandemics/1883450/