แนวทางการจัดการน้ำขององค์กรตามแนวทางสากล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

WEMS_and_Sustainable_Development

มาตรฐาน ISO 46001: 2019 เป็นมาตรฐานสากลที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และช่วยให้องค์กรมั่นใจในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวทางสากลด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งเนื้อหามาตรฐานประกอบด้วยโครงสร้างระดับสูง (High Level Structure : HLS) 10 หัวข้อ ตามที่จะได้กล่าวถึงในบทความนี้ต่อไป

สำหรับโครงสร้างระดับสูงนั้น ไอเอสโอได้กำหนดขึ้นมาใช้กับมาตรฐานระบบการจัดการเพื่อให้สามารถนำไปใช้ร่วมกัน (integration) ได้ในระบบต่างๆ เช่น ระบบคุณภาพ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร เป็นต้น รวมทั้งระบบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งการมีโครงสร้างร่วมกันในระบบการจัดการเช่นนี้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานในการนำระบบการจัดการประเภทต่างๆ มาใช้ร่วมกันแล้ว ยังช่วยให้องค์กรมีความเข้าใจถึงวงจรการบริหารงานคุณภาพ หรือ PDCA มากขึ้นด้วย ได้แก่ วางแผน (Plan), ปฏิบัติ (Do), ตรวจสอบ (Check) และดำเนินการให้เหมาะสม (Act)

เนื้อหาหลัก (Core text) คือ ส่วนสำคัญที่อยู่ภายในแต่ละหัวข้อของ HLS ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกัน (Identical context) ในทุกๆ มาตรฐาน โดยเนื้อหาในส่วนแรกได้กล่าวถึงการกำหนด ขอบข่าย (Scope) ของการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกขนาด ทุกประเภท ที่ต้องการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนจะมีการอ้างอิง (Normative references) ถึงมาตรฐานฉบับอื่นๆ ที่นำมาช่วยในการสนับสนุน เพื่อให้เกิดความง่ายในการประยุกต์ใช้มาตรฐานในแต่ละองค์กร นอกจากนี้ยังมีการอธิบายถึง คำศัพท์และบทนิยาม (Terms and definitions) ที่จำเพาะสำหรับการทำความเข้าใจมาตรฐาน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของมาตรฐานแต่ละฉบับ ในการประยุกต์ใช้มาตรฐานนี้  องค์กรควรทำความเข้าใจใน บริบทขององค์กร (Context of the organization) และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้แน่ใจว่าประเด็นต่างๆ ได้ถูกนำมาพิจารณา โดยระบบการบริหารจัดการน้ำขององค์กรจะมีทิศทางและถูกผลักดันให้เกิดประสิทธิผลมากหรือน้อยแค่เพียงใดขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและ ความเป็นผู้นำ (Leadership) ของผู้บริหารระดับสูง และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การวางแผน (Planning) ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของแผนงาน ตัวชี้วัด เป้าหมายในการดำเนินการ รวมทั้งวิธีในการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ การดำเนินงานตามแผนงานที่วางไว้นั้น ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรส่วน สนับสนุน (Support) ที่เหมาะสม ทั้งทรัพยากรบุคคลและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุน ในส่วนสุดท้ายของมาตรฐานได้อธิบายถึงข้อกำหนดใน การดำเนินการ (Operation) และการควบคุมกระบวนการต่างๆ ตามแผนงานที่วางไว้ และการประเมินสมรรถนะ (Performance Evaluation) ของระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Improvement) ซึ่งเป็นไปตามวงวจร PDCA ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

จะเห็นได้ว่ามาตรฐาน ISO46001: 2019 เป็นมาตรฐานที่กล่าวถึงภาพรวมในการบริหารจัดการน้ำ เน้นมุมมองการจัดการเชิงระบบภายในองค์กร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์กรควรพิจารณาขยายขอบเขตความรับผิดชอบ โดยพิจารณาให้ครอบคลุมการลดผลกระทบจากการดำเนินงานตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า โดยใช้แนวทางการประเมินรอยเท้าน้ำ (Water Footprint) หรือนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซี่งเป็นกรอบแนวทางการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบการจัดการน้ำแบบหมุนเวียน (Circular water management) ดังกรณีตัวอย่างของบริษัท Procter & Gamble (P&G) ประเทศอียิปต์ ที่ได้นำน้ำสบู่ที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) แทนการใช้น้ำจืด ในกระบวนการผลิตผงซักฟอก วิธีการนี้ส่งผลให้ลดปริมาณการใช้น้ำจืดลงเกือบ 40% ทั้งช่วยลดภาระการบำบัดน้ำสบู่ก่อนปล่อยออกจากโรงงาน

บริษัทในเครือ L’Oréal เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่นำเทคโนโลยีเมมเบรนมาใช้ในการบำบัดน้ำเสียในโรงงานเครื่องสำอางก่อนปล่อยออกจากโรงงาน ซึ่งเป็นการรีไซเคิล (Recycle) เพื่อนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพของกลุ่มองค์กร โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดจะมีการนำกลับมาใช้ใหม่ในการทำความสะอาดเครื่องจักร สามารถลดการใช้น้ำจืดมากถึง 60%

จากที่กล่าวมานั้นจะเห็นว่า การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ให้แนวทางสำหรับองค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งยังสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDGs 6 เรื่องน้ำสะอาดและการสุขาภิบาล (clean water and sanitation) ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมได้นำแนวทางดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ย่อมเป็นการสนับสนุนการทิศทางการพัฒนาของประเทศให้สามารถก้าวข้ามผ่านระบบการผลิตแบบเดิมไปสู่โอกาสทางการผลิตแบบใหม่หรือการสร้างนวัตกรรมซึ่งจะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน ควบคู่กับการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ที่มา :      

  1. https://www.iso.org/standard/68286.html
  2. https://www.wbcsd.org/Programs/Food-and-Nature/Water/Resources/spotlight-on-reduce-reuse-and-recycle