ความหลากหลายทางชีวภาพกับวันสิ่งแวดล้อมโลก 2563

2.-Biodiversity-and--WORLD-ENVIRONMENTAL-DAY-2020

ธรรมชาติเป็นแหล่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่เรารับประทานเข้าไป อากาศที่เราหายใจเข้าออกอยู่ทุกขณะ น้ำที่เราดื่ม หรือภูมิอากาศที่แวดล้อมโลกของเราอยู่ ล้วนแล้วแต่มาจากธรรมชาติ  แต่เมื่อมนุษย์เราใช้ประโยชน์จากธรรมชาติจนเกินความพอดี ทำให้โลกต้องหันมาใส่ใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และถึงแม้ว่าโรคระบาดร้ายแรงอย่าง COVID-19 จะส่งผลให้ภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม แต่เรายังไม่อาจวางใจได้  ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างสรรค์ให้โลกของเราดีขึ้นกว่าเดิม

เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2563 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program: UNEP) ได้จัดทำคู่มือปฏิบัติการวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งคนทั่วโลกสามารถนำไปใช้งานได้ทันที ไม่ว่าจะใช้ในนามของปัจเจกบุคคล กลุ่มคน เมือง สถาบันการศึกษา หรือองค์กรธุรกิจ

วันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ มีการรณรงค์ในหัวข้อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมต่อสู้เพื่อลดความสูญเสียของพืชพันธุ์และสัตว์ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากมนุษย์

เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ประเทศโคลอมเบียและประเทศเยอรมนีได้ร่วมกันรณรงค์และกระตุ้นให้ทั่วโลกคิดถึงระบบเศรษฐกิจที่ผู้คนได้เข้าไปมีส่วนร่วมและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีประเด็นปัญหามากมายที่โลกของเราไม่อาจสูญเสียไปได้อีกแม้ว่าจะเป็นเวลาที่เรากำลังต่อสู้กับโรคระบาดไวรัสโคโรนาก็ตาม ในฐานะที่ประเทศโคลอมเบียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากของโลก เช่น มีกล้วยไม้ถึง 3,500 ชนิดและมีชนิดของนกมากถึง 19% ของโลก เป็นต้น รัฐบาลโคลอมเบียจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับแรก

ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตและรูปแบบทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยเป็นผลจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยกระบวนการทางธรรมชาติมานานนับพันล้านปี  ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตในสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ไปจนถึงเชื้อราและแบคทีเรีย นับได้ราว 8 ล้านสปีชีส์โดยมีระบบนิเวศที่ล้อมรอบอยู่ เช่น มหาสมุทร ป่าไม้ ภูเขา และแนวปะการัง ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพยังรวมไปถึงความหลากหลายทางสายพันธุ์ต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตด้วย

ในวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2563 ยังมีคนทั่วโลกเป็นจำนวนมากต้องอยู่ที่บ้านและเว้นระยะห่างทางสังคม โรคระบาด Covid-19 ทำให้มนุษย์ระลึกว่าสุขภาพของมนุษย์นั้นมีความเชื่อมโยงกับสุขภาพของโลกเพียงใด  เชื้อโคโรนาไวรัสมีการแพร่กระจายจากสัตว์ไปสู่มนุษย์ซึ่งการวิจัยแสดงให้เห็นว่าโรคนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น มีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านคนและมีผู้เสียชีวิตนับล้านคน

นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่าถ้ามนุษย์ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของเราซึ่งมีผลต่อที่อยู่ของสัตว์ป่า เราก็จะตกอยู่ในอันตรายจากโรคระบาดไวรัสมากขึ้นในอนาคต การป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดจากสัตว์มาสู่มนุษย์จึงต้องเน้นเรื่องของภัยคุกคามที่มีความหลากหลายต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติและสัตว์ป่ารวมไปถึงการสูญเสียถิ่นที่อยู่และการทำลายถิ่นฐานธรรมชาติ การค้าที่ผิดกฎหมาย การเกิดมลพิษ การเกิดสปีชีส์ที่รุกราน (สปีชีส์ต่างถิ่นที่สามารถเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น เราทุกคนจำเป็นต้องร่วมกันปกป้องธรรมชาติ ยุติการสร้างมลพิษ และสนับสนุนกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยในระดับบริษัท จำเป็นต้องพัฒนาซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน วิธีปฏิบัติทางการผลิตที่ไม่ทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในระดับพลเมืองและกลุ่มสังคมควรมองหาวิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถดถอยลง ในระดับผู้บริโภค ต้องคิดก่อนซื้อว่าการซื้อนั้นจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงได้อย่างไร

ปัจจุบัน โลกของเราอยู่ในห้วงเวลาที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อันเนื่องมาจากกิจกรรมที่มีผลต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจกลดลง แต่เราก็ยังคงต้องเฝ้าระวังกิจกรรมเหล่านั้นต่อไป  ส่วนในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพนั้น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ชี้ให้เห็นว่า COVID-19 ที่แพร่กระจายมาจากสัตว์ป่านั้น มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโลกของธรรมชาติ เมื่อเราเข้าใกล้ธรรมชาติและทำลายที่อยู่ของสัตว์ป่า ทำให้สปีชีส์ต่างๆ ตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกซึ่งควรมีการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเพื่อลดปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้มั่นใจว่ามีการเข้าถึงอาหารและน้ำ รวมทั้งการป้องกันโรคระบาดได้

สำหรับไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ได้พัฒนาชุดมาตรฐาน ISO 14000 รวมทั้งชุดมาตรฐาน ISO 14055 (แนวทางวิธีปฏิบัติที่ดีด้านการบริหารจัดการที่ดินซึ่งมีเป้าหมายในการป้องกันหรือลดการเสื่อมโทรมของที่ดิน) ซึ่งองค์กรสามารถนำไปใช้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13, Climate Action) การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (SDG 14, Life below Water) และการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรบนแผ่นดิน (SDG 15, Life on Land)

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันช่วยกันใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างสรรค์ให้โลกของเราดีขึ้นกว่าเดิม….เมื่อเราใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น ธรรมชาติก็จะใส่ใจเรามากขึ้นเช่นกัน

ที่มา :

  1. https://www.worldenvironmentday.global/
  2. https://news.un.org/en/story/2020/05/1064752
  3. https://www.iso.org/news/ref2520.html