ก้าวสู่อนาคตของเมืองที่ยั่งยืน

World-Cities-Day-2018

ปัจจุบัน เมืองมีการเติบโตมากขึ้น  และมีแนวโน้มที่จะมีคนจะย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองเพิ่มมากขึ้นอีก 2.4 พันล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า การสร้างเมืองที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืนเป็นหัวข้อหลักที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเนื่องในวันสากลแห่งเมืองในปีนี้ และมาตรฐานไอเอสโอก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เมืองเป็นเช่นนั้นได้

เราจะส่งเสริมให้เมืองเป็นที่สนใจในขณะเดียวกันก็สามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมได้อย่างไรในเมื่อเมืองทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาที่ประชากรเติบโตอย่างรวดเร็ว

นับตั้งแต่เมืองแซปปาด้าในประเทศอิตาลีกลายเป็นชุมชนแรกในยุโรปที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 37101 การพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชน – การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน – ข้อกำหนดพร้อมแนวทางการใช้งาน (Sustainable development in communities – Management system for sustainable development – Requirements with guidance for use)  เมืองก็ได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการท้องถิ่นเป็นอย่างมาก มีโครงการใหม่ๆ เพื่อการศึกษาและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และมีวิธีการส่งเสริมเมืองและระบบเพื่อวัดและติดตามสมรรถนะด้านความยั่งยืน พร้อมทั้งยังช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนอีกด้วย

ISO 37101 เป็นส่วนหนึ่งของชุดมาตรฐานที่อุทิศให้กับเมืองที่ต้องการพิสูจน์อนาคตที่ต้องการความยั่งยืนและยืดหยุ่น ซึ่งมาตรฐานนี้มีส่วนทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในข้อที่ 11 คือเมืองและชุมชนที่มีความยั่งยืน ซึ่งต้องการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ “วันสากลแห่งเมือง” ในปีนี้ด้วย

มาตรฐานดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 268, Sustainable cities and communities ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศ ซึ่งได้เข้าร่วมในการพัฒนามาตรฐานอื่นๆ ที่เป็นกรอบการดำเนินงานและใช้วัดสมรรถนะด้วย เช่น ชุดมาตฐาน ISO 37150 ด้านโครงสร้างชุมชนอัจฉริยะ และ ISO 37120 ด้านตัวชี้วัดบริการของเมืองและคุณภาพชีวิต

ดร.แบร์นาร์ แชงโดรส ประธานคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 268 กล่าวว่าเมืองในวันพรุ่งนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายแต่ก็เป็นโอกาสที่ดีครั้งสำคัญด้วย เช่น การมีโอกาสที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมือง และการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพลเมือง เป็นต้น

อนาคตของเมืองส่งผลกระทบต่อทุกคนเพราะเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องนับตั้งแต่การขนส่งสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สาธารณูปโภคเช่น น้ำและพลังงาน ไปจนถึงการมีส่วนร่วมของสังคม สุขภาพ และอื่น ๆ อีกมากมาย

การสร้างเมืองที่มีความยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโดยธรรมชาตินั้น เมืองมีปฏิสัมพันธ์ของระบบที่ซับซ้อนสูง มาตรฐานของสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้นำของเมืองสามารถระบุวิสัยทัศน์ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เมืองเป็นไปตามที่ต้องการ     ทำอย่างไรจึงจะจัดการกับความท้าทายของพลเมืองที่เติบโตขึ้นทุกวัน และเมืองจะก้าวไปสู่อนาคตกับกลยุทธ์ที่มีความชัดเจนได้อย่างไร พร้อมด้วยเป้าหมายและโรดแมปของเมือง

ไอเอสโอได้ติดตามเรื่องราวของเมืองที่มีความยั่งยืนทั่วโลกและจะเข้าร่วมประชุมวิชาการกับองค์กรมาตรฐานสากล ได้แก่ คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์หรือไออีซีและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือไอทียูในการประชุมวิชาการเมืองอัจฉริยะของโลกในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ที่เมืองซานตาเฟ่ ประเทศอาร์เจนติน่า

การประชุมวิชาการดังกล่าวจะเป็นการรวมคนและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยและปรึกษาหารือเพื่อทำให้เห็นภาพของสิ่งที่จำเป็นจะต้องพัฒนาสำหรับเมืองที่มีความยั่งยืนและเมืองอัจฉริยะในอนาคตพร้อมด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อไป

ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2341.html