ISO 38200 ช่วยสอบกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์จากไม้

ISO-38200-for-Tracing-Back-the-Origin-of-Wood-Products

การตัดไม้ทำลายป่าเป็นการทำลายผืนโลกที่เราอาศัยอยู่ ถือเป็นการคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ และมีส่วนในการทำให้เกิดความเสียหายในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย

นอกจากเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสียหายต่อภาวะโลกร้อนแล้ว ปัจจุบัน ผู้บริโภคยังมีความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งหากผู้บริโภคจะซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ ก็มีความต้องการที่จะรู้ถึงแหล่งของป่าไม้ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญองค์ประกอบหนึ่งในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ และเนื่องจากในซัพพลายเชนของไม้มีผู้เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน อีกทั้งชนิดของไม้ก็มีความแตกต่างกันออกไป การสอบกลับไปยังแหล่งที่ถูกกฎหมาย จึงมีความซับซ้อน แต่วิธีการที่เข้มแข็งของการสอบกลับ จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อได้ดีขึ้นและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้จะทราบถึงแหล่งที่มาของไม้ที่ถูกกฎหมายและทำให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นได้ และสิ่งที่จะช่วยสอบกลับไปยังแหล่งที่มาของไม้ก็คือมาตรฐานไอเอสโอที่เพิ่งประกาศใช้ใหม่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั่นเอง

มาตรฐานที่ช่วยตอบโจทย์ดังกล่าว คือ ISO 38200, Chain of custody of wood and wood-based products ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ระบุข้อกำหนดสำหรับห่วงโซ่ของการดูแลป่าไม้และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากไม้ซึ่งทำให้ผู้ซื้อสามารถสอบกลับแหล่งของไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ในทุกๆ ขั้นตอนของซัพพลายเชน

ดร.จอร์จ อี อาร์ คาเจเซียร่า ประธานคณะกรรมการวิชาการที่พัฒนามาตรฐาน ISO 38200 กล่าวว่ามาตรฐานนี้เป็นการเตรียมกรอบการดำเนินงานที่ทำให้ผู้ที่มีบทบาทในซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานดังกล่าว  มีการพูดภาษาเดียวกันทั่วโลก มาตรฐานนี้จะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถสอบกลับผลิตภัณฑ์ไม้ ว่ามาจากแหล่งใด  ซึ่งจะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงไม้จากแหล่งผิดกฎหมายไม่ให้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนได้

นอกจากนี้ ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับระบบ CoC (Chain of Custody) ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ทั้งในแง่ของการสอบกลับ ความโปร่งใส  และคุณภาพ โดยระบบ CoC ขึ้นอยู่กับระบบควบคุมที่ใช้ติดตามและจัดการกับวัตถุที่เกี่ยวข้องทั้งซัพพลายเชนหรือส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน รวมทั้ง การขนส่ง การผลิต และการขาย ไปจนถึงการประกาศหรือการแถลงถึงผลผลิต (output declaration) เป็นต้น ซึ่งมาตรฐาน ISO 38200 มีวัตถุประสงค์ในการติดตามวัตถุจากแหล่งที่แตกต่างกันไปจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย แต่ไม่รวมถึงการนำไปใช้กับการจัดการด้านป่าไม้ (Forest Management) ทั้งนี้ คำว่า “วัตถุ” ที่ระบุในมาตรฐานดังกล่าว หมายถึงวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากไม้  ไม้คอร์กและผลิตภัณฑ์จากลิกนิน (ส่วนประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อพืช) และอื่นๆเช่น ไม้ไผ่ เป็นต้น

มาตรฐาน ISO 38200 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการโครงการ ISO/PC 287, Chain of custody of wood and wood-based products ซึ่งมีเลขานุการคือ DIN สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศเยอรมัน  และ ABNT สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศบราซิล

ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store

ที่มา:

  1. https://www.iso.org/news/ref2342.html
  2. https://www.iso.org/standard/70179.html