ไอเอสโอปรับปรุงชุดมาตรฐาน ISO 80000

ISO-80000-Series-to-Be-Completed-in-2019

เรื่องราวของ “การวัด” มีความเป็นมาที่ยาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ กล่าวกันว่ามนุษย์รู้จัก “การวัด” ก่อน “การเขียน” เรารู้จักนับเลข และการใช้ดวงอาทิตย์บอกเวลา เรารู้จักนำวัตถุที่มีอยู่บนโลกนี้มาวัดความยาวและชั่งน้ำหนัก ต่อมา มนุษย์เราต้องการการวัดที่ดีขึ้น  ศาสตร์ของการวัดจึงมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปพร้อมกับสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ
“มาตรวิทยา” มีความเป็นมาที่ยาวนานควบคู่กับความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ปัจจุบัน เนื่องจากระบบหน่วยวัดสากลมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้โลกของเราเตรียมปรับหน่วยวัดพื้นฐานใหม่ ตามที่ MASCI Innoversity เคยนำเสนอบทความในหัวข้อ “มาตรวิทยาโลกเตรียมปรับหน่วยวัดใหม่” มาแล้ว
หน่วยวัดสากลที่มีการปรับปรุงใหม่จำนวน 4 หน่วย ได้แก่ กิโลกรัม แอมแปร์ เคลวิน และโมล นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของการวัดสากลนับตั้งแต่ปี 2418 (ค.ศ.1875 ซึ่งเป็นปีที่ BIPM ถือกำเนิดขึ้นและเป็นปีที่ผู้แทน 17 ประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาด้านการวัด) เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ชุดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัดของไอเอสโอซึ่งได้รับการเผยแพร่จากไอเอสโอและไออีซี คือ ชุดมาตรฐาน ISO 80000, Quantities and Units มีการให้ความหมายของชื่อสากล ความหมาย และสัญลักษณ์ของปริมาณที่ใช้ในทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว

สำหรับหน่วยการวัดสากลนั้น นักวิทยาศาสตร์ด้านมาตรวิทยามากกว่า 60 ประเทศได้มารวมตัวกันในการประชุมเชิงปฏิบัติการทั่วไปด้านการชั่งและการวัด (General Conference on Weights and Measures: CGPM) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายน 2561 ที่แวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมกันให้สัตยาบันในความหมายใหม่ของหน่วยการวัดสากล

ในการประชุมดังกล่าว เลขาธิการไอเอสโอยังได้ลงนามในประกาศร่วมในการสอบกลับทางมาตรวิทยาเพื่อแสดงพันธสัญญาของไอเอสโอในการให้ความร่วมมือกับองค์กรทั้ง 3 องค์กร ได้แก่ BIPM, OIML (International Organization of Legal Metrology) และ ILAC (International Laboratory Accreditation Cooperation) ด้วย การประกาศดังกล่าวเป็นการยืนยันถึงความคงที่และการเปรียบเทียบสากลว่าจะได้รับการรับรองหากผลของการวัดมีการสอบกลับไปยังแหล่งอ้างอิงที่เป็นที่ยอมรับกันทางมาตรวิทยา และเป็นพื้นฐานสำหรับทุกองค์กร

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการทั่วไปด้านการชั่งและการวัดดังกล่าว เลขาธิการไอเอสโอกล่าวว่าการตัดสินใจในการให้ความหมายใหม่ของหน่วยสากลหลัก 7 หน่วยนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก

การรับเอาการวัดที่เป็นมาตรฐานไปใช้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเศรษฐกิจโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม

การให้ความหมายใหม่นี้หมายความว่าเราจะไม่พึ่งพิงวัตถุทางกายภาพสำหรับการวัดที่แม่นยำอีกต่อไป ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากมายต่อโลกของเราโดยจะทำให้เกิดการเร่งนวัตกรรม และการลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเทคโนโลยี และจะทำให้วิทยาศาสตร์ด้านการวัดในรุ่นต่อๆ ไปเกิดความก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ชุดมาตรฐาน ISO 80000 มีการเน้นในเรื่องของความกลมกลืนแบบสากลในเรื่องของคำศัพท์ นิยาม และสัญลักษณ์ของหน่วยและปริมาณที่ใช้ในทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ซึ่งเป็นการยืนยันภาษาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการเขียนสูตรต่างๆ อันเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรในสาขาต่างๆ

ชุดมาตรฐานที่มีการอ้างอิงในเอกสารของ BIPM (Bureau International des Poids et Mesures หรือ International Bureau of Wdights and Measures) ประกอบด้วย 13 ส่วน โดย 11 ส่วนมาจากไอเอสโอ และ 2 ส่วนมาจากไออีซี ซึ่งมีศัพท์ ความหมาย สัญลักษณ์ที่แนะนำ หน่วย และข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปริมาณที่ใช้ในทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม มาตรวิทยา และอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการอ้างอิงเพื่อการเขียนทางวิทยาศาสตร์หรือเอกสารทางวิชาการ ตำรา มาตรฐาน และแนวทางอื่นๆ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การอ้างอิงชุดมาตรฐาน ISO 80000 ได้รับการทบทวนไปพร้อมกันกับเอกสารโบรชัวร์เรื่องระบบหน่วยสากล (International System of Units: SI)  ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 (ค.ศ.2019)

ผู้สนใจมาตรฐานดังกล่าวสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store

ที่มา:

  1. https://www.iso.org/news/ref2348.html
  2. https://www.bipm.org/en/worldwide-metrology/metre-convention/