ปัจจุบัน สังคมผู้สูงวัยเริ่มปรากฏอย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งหุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก เช่น การพาผู้สูงวัยออกไปเดินเล่นหรือช็อปปิ้ง นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังสามารถจดจำอารมณ์ของผู้สูงวัย และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อีกด้วย ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์ผู้ช่วยเหลือดูแลนี้จะยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และแพทย์ต่างก็ทำนายว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ชั้นสูงจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และสามารถช่วยเหลือผู้สูงวัยได้อย่างเต็มรูปแบบ
ในประเทศญี่ปุ่น ช่วงชีวิตของคนยืนยาวขึ้นในขณะที่อัตราการเกิดลดลง ทำให้มีคนในวัยทำงานลดลงและมีความต้องการผู้ดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น และเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ประเทศญี่ปุ่นจึงหันมาใช้สิ่งที่มีความถนัดมากที่สุด ซึ่งก็คือเทคโนโลยี ในยุโรปก็เช่นเดียวกัน สหภาพยุโรปเริ่มลงทุนในการวิจัยเพื่อผู้สูงวัย
โรมีโอเป็นหุ่นยนต์ที่หน้าตาคล้ายมนุษย์ มีความสูง 140 เซนติเมตร ได้รับการออกแบบมาเพื่อสำรวจงานวิจัยเพื่อใช้ช่วยเหลือผู้สูงวัยและคนที่สูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตของตนเอง
จอร์จ ดิแอส จากมหาวิทยาลัยโคอิมบรา ประเทศโปรตุเกส กล่าวว่าการศึกษาของทางยุโรปแสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านการดูแลผู้สูงวัยในระดับประเทศและในยุโรปเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้เกิดความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย จอร์จ ดิแอส ช่วยงานในโครงการที่ได้รับทุนจากสหภาพยุโรปที่มีชื่อว่า GrowMeUp ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ช่วยดูแลผู้สูงวัยให้มีสุขภาพดีและมีความตื่นตัว วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ ระบบหุ่นยนต์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการดูแลรักษาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านได้มากกว่าที่จะต้องอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงวัย
ส่วนอีกโครงการหนึ่งที่ชื่อว่า Robot-Era ก็ได้พยายามที่จะทดสอบประสิทธิผลและการยอมรับในบริการหุ่นยนต์เพื่อผู้สูงวัย ซึ่งผู้สูงวัยจำนวน 160 คนในอิตาลีและสวีเดนได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนำร่องเป็นเวลา 4 ปีซึ่งหุ่นยุนต์ได้พาพวกเขาไปซื้อของ ช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน เช่น พาไปทิ้งขยะ ช่วยเปิด-ปิดประตู และดูแลความปลอดภัยต่างๆ อย่างระวังเรื่องแก๊สรั่ว เป็นต้น
ผู้สูงวัยรายหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่าหุ่นยนต์ที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือนั้นทำให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันมีความสะดวกสบาย การมีชีวิตอยู่คนเดียวโดยมีหุ่นยนต์ช่วยเหลือในบ้านนั้น ทำให้รู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลายมากขึ้น
โรดอล์ฟ เจลิน ผู้อำนวยการของศูนย์นวัตกรรมวิจัยของบริษัทที่ผลิตหุ่นยนต์โรมีโอกล่าวว่า หุ่นยนต์ตัวหนึ่งสามารถช่วยเหลือคนได้ใน 3 ด้าน คือ ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจว่าปลอดภัยเมื่ออยู่ที่บ้าน ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้ความช่วยเหลือได้ และทำงานที่ต้องทำในชีวิตประจำวันเมื่ออยู่ในบ้าน
ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของการมีหุ่นยนที่ใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงวัยก็คือ หุ่นยนต์สามารถรู้จักลักษณะนิสัยของผู้สูงวัย เช่น จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการนอน เวลาที่ใช้ในการรับประทานอาหาร ซึ่งมันจะสามารถติดตาม ดูแลและป้องกันปัญหาโดยสามารถรายงานให้ผู้ดูแลและครอบครัวของผู้สูงวัยทราบข้อมูลเหล่านั้นได้ เครือข่ายการดูแลเสมือนจริงจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมและทำให้การดูแลมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งกับผู้สูงวัยเองและครอบครัวของพวกเขาซึ่งใช้เวลาน้อยลงในการดูแลผู้สูงวัยด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Iron Hand ซึ่งกำลังพัฒนาและทดสอบถุงมือหุ่นยนต์เพื่อใช้หยิบจับสำหรับผู้สูงวัยที่สูญเสียความสามารถในการใช้มือในชีวิตประจำวันอย่างการหยิบขวดน้ำหรือการเตรียมอาหาร ซึ่งบริษัท โฮโคม่า เป็นหนึ่งในบริษัทที่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวที่ร่วมบุกเบิกพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อการบำบัดให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายหรืออวัยวะได้ดีขึ้น
มีคำถามว่าการใช้อุปกรณ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้สูงวัยนั้นจะทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยกหรือไม่ โรดอล์ฟ เจลิน กล่าวว่า ตรงกันข้ามเลย ในบ้านที่มีผู้เกษียณอายุนั้น หุ่นยนต์ได้กลายเป็นศูนย์กลางของความสนใจและทำให้ผู้สูงวัยมารวมตัวเพื่อพูดคุยกัน หุ่นยนต์เหล่านั้นทำให้มีการเชื่อมโยงกันทางสังคม เช่น ทำให้ปู่ย่าตายายมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับลูกหลานมากขึ้น และทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกดีกว่าการใช้ไม้เท้าหรือเก้าอี้รถเข็น เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ยอมรับว่าพยาบาลที่เป็นมนุษย์หรือสมาชิกในครอบครัวนั้นดีกว่าแต่ในสังคมเช่นนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะจ้างพยาบาลหรือขอให้สมาชิกในครอบครัวมาดูแลผู้สูงวัย ดังนั้น การมีหุ่นยนต์ผู้ช่วยเหลือจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่าปล่อยให้ผู้สูงวัยอยู่ที่บ้านคนเดียว
ในประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญมากเพราะวาระสำคัญที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ก็คือ การเข้าไปเป็นเพื่อนที่ช่วยดูแล ซึ่ง Hasbro บริษัทของเล่นและบอร์ดเกมข้ามชาติของอเมริกาได้พัฒนาแมวหุ่นยนต์โดยมีเป้าหมายเฉพาะคือผู้สูงวัยเพื่อช่วยเติมเต็มความรู้สึกที่ว่างเปล่า หุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่คล้ายกันและมีความคล้ายคลึงมนุษย์ของ SoftBank ก็สามารถจดจำและตอบสนองในเรื่องอารมณ์ได้ ซึ่งได้มีการใช้ในบ้านของผู้เกษียณอายุจำนวนหนึ่งในยุโรปเพื่อใช้ในการส่งข่าวสารและให้ความบันเทิงแก่ผู้เกษียณอายุ
หุ่นยนต์ยังช่วยในเรื่องของแรงงานที่กำลังมีแนวโน้มจะขาดแคลน เช่นที่สนามบินฮาเนดะที่โตเกียวก็มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ไซเบอร์ดีนของญี่ปุ่นเพื่อช่วยในเรื่องการทำงาน ของพนักงานที่ต้องใช้ร่างกายส่วนล่างเคลื่อนไหวโดยติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นส่วนของหุ่นยนต์เข้าไปด้วย (เช่น ยกของหนักๆ อย่างกระเป๋า)
เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ไอเอสโอให้ความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานหุ่นยนต์ให้มีคุณภาพและความปลอดภัย โดยพัฒนามาตรฐาน ISO 13482 ขึ้นมาซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนจบค่ะ