นักดำน้ำ…โลกใต้ทะเล…และมาตรฐานไอเอสโอ

ISO-and-Environmentally-Friendly-Diving

โลกใต้ทะเลเป็นโลกที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ที่นักดำน้ำต้องการค้นหา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จากข้อมูลของนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกระบุว่าโลกของเรามีส่วนประกอบของน้ำทะเลถึง 70% ส่วนน้ำบนพื้นดินมีเพียง 30% และภาพของสัตว์และพืชที่อยู่ใต้ทะเลที่เราเห็นนั้นมีสีสันสวยงามอย่างเหลือเชื่อ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะนักดำน้ำ จึงต้องการค้นหาความงดงามที่ซ่อนอยู่ใต้ทะเลด้วยสายตาของตนเอง

การดำน้ำลึกเป็นความหลงใหลอย่างยิ่งสำหรับนักดำน้ำนับล้านคนทั่วโลก พวกเขาต่างมีความรักในโลกใต้น้ำเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดำน้ำที่ขาดการฝึกฝนด้วยความรับผิดชอบ สามารถทิ้งร่องรอยของตัวเองไว้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้  ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการผจญภัยใต้น้ำ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้มีการดำน้ำอย่างยั่งยืน  ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานขึ้นมา 2 ฉบับ ได้แก่ มาตรฐาน ISO 21416, Recreational diving services – Requirements and guidance on environmentally sustainable practices in recreational diving  และ ISO 21417, Recreational diving services – Requirements for training on environmental awareness for recreational divers

มาตรฐาน ISO 21416 ช่วยส่งเสริมเทคนิคการดำน้ำที่อนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลในขณะที่มาตรฐาน ISO 21417 ช่วยเสริมสร้างความมุ่งมั่นของนักดำน้ำในด้านพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งมีโปรแกรมการฝึกอบรมอย่างมีมาตรฐานที่ทำให้นักดำน้ำมีพื้นฐานที่ดีและมีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและมีแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับกิจกรรมต่างๆ อย่างครอบคลุม เช่น การดำน้ำแบบลอยตัวบนผิวน้ำ และการดำน้ำใต้ผิวน้ำ เป็นต้น  ซึ่งช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ศูนย์ดำน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าจะเป็นนักดำน้ำมือใหม่หรือผู้ที่ช่ำชองแล้ว นักดำน้ำต่างให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมทางน้ำอย่างเต็มที่ เป้าหมายของศูนย์ดำน้ำคือการช่วยให้นักดำน้ำเพลิดเพลินไปกับโลกใต้น้ำได้อย่างปลอดภัยและพัฒนาความตระหนักรู้ถึงธรรมชาติอันละเอียดอ่อน หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมการดำน้ำคือสถานที่ที่ผู้คนไปดำน้ำ การได้รับประกาศนียบัตรที่รับรองการดำน้ำ และการเช่าอุปกรณ์

โปรแกรมการฝึกอบรมเป็นส่วนสำคัญของการดำน้ำ ดังนั้น การที่ผู้ให้บริการดำน้ำหรือศูนย์ดำน้ำ นำมาตรฐาน ISO 24803, Recreational diving services  – Requirements for recreational diving providers ไปใช้จึงเป็นการยืนยันว่าศูนย์ดำน้ำมีการยึดถือแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในทุกเรื่อง นับตั้งแต่การฝึกอบรมพนักงานไปจนถึงอุปกรณ์ฉุกเฉิน มาตรฐานนี้พัฒนาขึ้นโดยทีมผู้เชี่ยวชาญระดับระหว่างประเทศที่ช่วยสร้างมาตรฐานสำหรับเงื่อนไขการฝึกอบรมในอุตสาหกรรมที่เข้าถึงพื้นที่ที่ห่างไกลที่สุดในโลก

ISO 24803 เพื่อศูนย์ดำน้ำที่มีคุณภาพและปลอดภัย

การรู้วิธีประเมินศูนย์ดำน้ำมีความสำคัญเนื่องจากความปลอดภัยส่วนบุคคลขึ้นอยู่กับการได้รับอุปกรณ์และการฝึกฝนที่ดี มาตรฐาน ISO 24803 ทำให้นักดำน้ำมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ลึกลงไป 20 เมตรใต้ผิวน้ำในทะเลแคริบเบียนหรือเริ่มดำน้ำครั้งแรกในประเทศไทยก็ตาม พวกเขากำลังดำน้ำกับผู้คนที่ปลอดภัยที่สุดและเป็นมืออาชีพมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ในอียิปต์ได้เห็นประโยชน์แล้วว่าการนำ ISO 24803 ไปใช้ทั่วประเทศส่งผลให้คุณภาพและความปลอดภัยของศูนย์ดำน้ำทั่วประเทศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ด้วยเหตุนี้ ประกาศนียบัตรรับรองการดำน้ำจำนวนมากที่ออกในประเทศจึงแสดงมาตรฐานไอเอสโอเพื่อยืนยันคุณภาพและความปลอดภัย

การวิจัยใต้ท้องทะเลลึก

การมีชุดทักษะของนักประดาน้ำหมายความว่าพวกเขาสามารถมีบทบาทสำคัญในการทำงานทางวิทยาศาสตร์ใต้น้ำได้ นับตั้งแต่การรวบรวมตัวอย่างไปจนถึงการปกป้องแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม นักดำน้ำเหล่านี้ต้องผสมผสานความรู้เกี่ยวกับระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์และการปกป้องสิ่งแวดล้อมเข้ากับความถนัดในการดำน้ำและความปลอดภัย

สาขาการดำน้ำอยู่ภายใต้การควบคุมในรูปแบบต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับภูมิศาสตร์และองค์กรที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีการกำหนดให้มีความคล่องตัวด้วยกรอบการดำน้ำทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียว

ปัจจุบัน ไอเอสโออยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐาน ISO 8804  จำนวน 3 ฉบับ  โดยพัฒนาข้อกำหนดการฝึกอบรมสำหรับนักดำน้ำทางวิทยาศาสตร์ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ นักดำน้ำทางวิทยาศาสตร์ (Scientific diver) นักดำน้ำทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูง (Advanced scientific diver) และหัวหน้าโครงการดำน้ำทางวิทยาศาสตร์ (Scientific diving project leader)  ซึ่งให้คำแนะนำสำหรับชุมชนนักดำน้ำเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ปลอดภัยภายใต้สภาวะการทดลองและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน

มาตรฐานไอเอสโอสำหรับการดำน้ำได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228, Tourism and related services

ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store

ที่มา:

  1. https://www.iso.org/contents/news/2022/08/beyond-the-sea.html
  2. https://amitydivingclub.com/why-diving-interesting/?lang=th