“เศรษฐกิจแบ่งปัน” ตอบโจทย์ยุคใหม่ ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า

1.-ISO-STANDARDS-SUPPORT--SHARING-ECONOMIES

สังคมโลกได้รู้จัก “เศรษฐกิจแบ่งปัน” มาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วและเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังจากแอร์บีแอนด์บี (Airbnb) ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อ 14 ปีแล้วเพื่อเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ตัวกลางระหว่างเจ้าของบ้านและนักท่องเที่ยว และมีธุรกิจหลายประเภท ได้นำแนวคิดนี้ไปใช้จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เช่น Uber, Grab, Spotify เป็นต้น

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ข่าวฐานเศรษฐกิจดิจิทัลได้รายงานว่าที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเขตปกครองตนเอง “กว่างซีจ้วง” ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของจีน มีบริษัท 2 แห่ง คือ โรงงานผู้ผลิตน้ำตาล Liuxing Sugar Manufacturing ในเครือ Guangxi Sugar Group กับโรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอะไหล่  Liuzhou Jinjing Electric Appliance Co., Ltd. ได้ลงนามสัญญาในการแบ่งปันพนักงานร่วมกัน

ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานของทั้งสองบริษัทได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพโดยในเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นช่วงปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลซึ่งพนักงานจะพักงานอยู่บ้านในขณะที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีอัตราการผลิตสูง แต่ขาดแคลนพนักงาน จึงสามารถไปทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ส่วนในเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไปเป็นฤดูหีบอ้อยที่โรงงานน้ำตาลต้องการแรงงาน ซึ่งโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะแบ่งปันพนักงานไปทำงานที่โรงงานน้ำตาลเช่นกัน

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก และไอเอสโอได้ศึกษาข้อมูลแนวโน้มดังกล่าวในทุกอุตสาหกรรมและจัดการงานด้านการมาตรฐานสำหรับตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสาขาที่เศรษฐกิจแบ่งปันมีศักยภาพที่จะเกิดขึ้น และไอเอสโอโดย ดร.มาซาอากิ โมชิมารุ ประธานคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 324, Sharing Economy ได้เปิดเผยเทรนด์สำคัญระดับโลกไว้ตามรายงานแนวโน้มอนาคตของไอเอสโอ ISO Foresight Trend Report ดังต่อไปนี้

โลกาภิวัตน์ทางการค้าได้ชะลอตัวลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายการค้าที่เข้มงวด ในทางกลับกัน การค้าภายในภูมิภาคกลับเพิ่มขึ้น เช่น ข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค (RTA) สำหรับสินค้าและบริการ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เป็นต้น

ในทำนองเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงกับประเทศที่เราซื้อขายและสิ่งที่เราซื้อขายด้วย จะเห็นได้ว่าบริการมีการซื้อขายมากกว่าสินค้า และแนวโน้มนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปในทศวรรษหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มขึ้นของบริการดิจิทัล เช่น การจัดการทางการเงินและความบันเทิงแบบสตรีมมิง ซึ่งมีส่วนทำให้กระแสข้อมูลข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นมาก

ในขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อธรรมเนียมปฏิบัติของการค้าแบบดั้งเดิม บริษัทต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในด้านการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศกำลังมองหาวิธีที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานของตนเองสั้นลง เช่น การควบคุมเทคโนโลยีอย่างการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งช่วยให้มีการผลิตที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้ปลายทางมากขึ้น

โมเดลธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี
เทคโนโลยีทำให้เกิดการสร้างรูปแบบการค้ามาตลอด นับตั้งแต่โทรเลขไปจนถึงบล็อกเชน การเติบโตอย่างต่อเนื่องของอีคอมเมิร์ซทำให้มีผู้ขายจำนวนมากขึ้น รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงเชื่อมต่อโดยตรงกับผู้ซื้อในทุกส่วนของโลก ทำให้บทบาทของบุคคลที่สามแบบดั้งเดิมลดลง

โอกาสและความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบางส่วนเกิดจากการเกิดขึ้นของ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” หรือที่เรียกว่า Gig Economyหรือเศรษฐกิจแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P Economy)  ซึ่งเป็นระบบที่บุคคลทั่วไปแบ่งปันสินค้าและบริการระหว่างกันโดยตรง ซึ่งโดยทั่วไปเกิดขึ้นผ่านอินเทอร์เน็ต แบบจำลองทางเศรษฐกิจนี้มีศักยภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเป็นการข้ามขั้นตอนแบบเดิมๆ ในห่วงโซ่อุปทาน ดังเช่นที่เราเห็นได้จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีอยู่นับพันนับหมื่นแห่ง รวมทั้ง Uber และ Airbnb และแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นทุกปี

เศรษฐกิจแบ่งปันเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดและดิสรัพท์ธุรกิจต่างๆ ได้มากที่สุดในปัจจุบัน  มีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เศรษฐกิจแบ่งปันในยุโรปจะเติบโตมากขึ้นเกิน 25% ต่อปี การเติบโตนี้เกิดจากแนวโน้มหลายอย่างเช่น ความต้องการของผู้บริโภคสำหรับการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้นและความสนใจในการสร้างชุมชน ซึ่งจะเปลี่ยนเส้นทางของผู้บริโภคแบบดั้งเดิมไปเป็นรูปแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม มีความวิตกกังวลในเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดและสภาพการทำงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานซึ่งเป็นประเด็นที่ไอเอสโอให้ความสำคัญและรวมอยู่ในการพัฒนามาตรฐานด้วย

การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นแสดงถึงความท้าทายใหม่ล่าสุดสำหรับหน่วยงานมาตรฐาน ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของการค้าในภูมิภาคในขณะที่การค้าโลกกำลังชะลอตัวอาจนำไปสู่ตลาดที่กระจัดกระจายซึ่งมีมาตรฐานที่ขัดแย้งกันระหว่างภูมิภาค ในขณะเดียวกัน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของบริการดิจิทัลทำให้ต้องมีมาตรฐานใหม่ในการจัดการสินทรัพย์ในศตวรรษที่ 21 เช่น ข้อมูลผู้บริโภคและสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งไอเอสโอกำลังติดตามแนวโน้มเหล่านี้อยู่ และได้จัดตั้งคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอเรื่องเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปันเพื่อพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องแล้ว

มาตรฐานมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่ารูปแบบธุรกิจใหม่ของเศรษฐกิจแบ่งปันดังกล่าวจะบรรลุตามคำมั่นสัญญาที่มีความยั่งยืนมากขึ้นไปพร้อมๆ กับป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้ปฏิบัติงานในขณะที่การค้าของโลกเราเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลและแนวโน้มอื่นๆ ดังนั้น องค์กรด้านการมาตรฐานจะต้องมีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบาย รวมทั้งผู้บริโภคเพื่อช่วยวางรากฐานสำหรับการค้าในอนาคตด้วย

ที่มา:

  1. https://www.thansettakij.com/blogs/world/533320
  2. https://www.econstor.eu/bitstream/10419/112778/1/830325093.pdf
  3. https://www.iso.org/contents/news/2022/09/foresight-trend-report-putting-t.html