ทำไมต้องจัดซื้ออย่างยั่งยืน

Why--Sustainable--Procurement

การจัดซื้อขององค์กรเป็นงานที่สำคัญงานหนึ่งขององค์กรซึ่งผู้บริหารไม่อาจมองข้ามไปได้ ปัจจุบัน องค์กรหลายแห่งให้ความสำคัญกับการจัดซื้อที่ยั่งยืน โดยมีการคำนึงถึงเกณฑ์ด้านความยั่งยืนในการประเมินการจัดซื้อขององค์กรด้วย และเกณฑ์หรือมาตรฐานจะมีมุมมองครอบคลุมกระบวนการการตัดสินใจซื้ออย่างรอบด้านซึ่งการจัดซื้อของทุกองค์กรต่างมีผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

องค์กรใหญ่ๆ ที่มีการนำแนวทางการจัดซื้ออย่างยั่งยืนไปใช้งาน ได้แก่ ธนาคารโลก ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2562 ได้จัดทำแนวทางการจัดซื้ออย่างยั่งยืนโดยกำหนดเป็นนโยบายและแนวทางการจัดซื้ออย่างยั่งยืนให้กับพนักงานและโครงการที่มีการลงทุนกับธนาคารในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีหลักการสำคัญ เช่น ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ความมีประสิทธิภาพ ความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อปี 2558 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก็ได้กำหนดกลยุทธ์การจัดซื้อโดยคำนึงถึงประโยชน์ของการจัดซื้ออย่างยั่งยืนเช่นกัน (UNDP Procurement Strategy 2015 – 2017)

ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐาน ISO 20400 การจัดซื้ออย่างยั่งยืน เพื่อให้องค์กรทั่วโลกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งจะมีส่วนต่อความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในข้อที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่มีความรับผิดชอบด้วย โดยองค์กรสามารถรวมนโยบายการจัดซื้อและวิธีปฏิบัติเข้ากับการบริหารจัดการความเสี่ยงซึ่งจะทำให้องค์กรมองเห็นโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

การจัดซื้ออย่างยั่งยืนเป็นโอกาสที่จะเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กรด้วยการปรับปรุงด้านผลผลิต การประเมินคุณค่าและสมรรถนะ การส่งเสริมการสื่อสารระหว่างผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมทั้งการส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร

มาตรฐาน ISO 20400 จะทำให้องค์กรที่นำมาตรฐานนี้ไปใช้มีความเข้าใจเรื่องของการจัดซื้ออย่างยั่งยืน และผลกระทบที่เกิดขึ้นของกิจกรรมจัดซื้อโดยคำนึงถึงเรื่องของนโยบาย กลยุทธ์ องค์กร และกระบวนการ รวมทั้งวิธีการนำการจัดซื้ออย่างยั่งยืนไปใช้ในองค์กร ทั้งนี้ มาตรฐาน ISO 20400 ยังใช้หัวข้อหลักของความรับผิดชอบทางสังคมที่นำมาจากมาตรฐาน ISO 26000, Guidance on social responsibility เพื่อทำให้องค์กรมีกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจากการกระบวนการจัดซื้อผ่านทางซัพพลายเชนขององค์กรด้วย

องค์กรทุกประเภทและทุกขนาดสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ซึ่งการนำไปใช้ก็ขึ้นอยู่บริบทและลักษณะของแต่ละองค์กร โดยการนำไปใช้งานนั้นให้ใช้แนวคิดที่เหมาะสมกับขนาดขององค์กร และสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่นำไปใช้ก็จะช่วยส่งเสริมองค์กรขนาดเล็กและองค์กรขนาดกลางที่เป็นซัพพลายเชนให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นด้วย

ที่มา : https://www.iso.org/obp/ui/#iso:std:iso:20400:ed-1:v1:en