โลกกำลังก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วย “การเงินที่ยั่งยืน”

A-Sustainable-World-Requires-the-Sustainable-Finance

ข้อมูลจาก The Sustainable Infrastructure Imperative, The New Climate Economy Report ของธนาคารโลกระบุว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมีการลงทุนเป็นจำนวนมากนับล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา ซึ่ง คณะกรรมการไอเอสโอคณะใหม่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อทำงานในเรื่องของการเงินที่ยั่งยืนโดยเฉพาะแล้ว

การปรับตัวให้สามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกนั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนที่มีนัยสำคัญพอสมควร กล่าวคือ ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ควรมีการลงทุนประมาณ 90 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้ว่าจะมีการลงทุนโครงการสีเขียวและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนไปแล้ว แต่โลกของเรายังจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอคณะใหม่ คือ ISO/TC 322, Sustainable finance มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนตลาดการลงทุนด้านความยั่งยืนด้วยการพัฒนามาตรฐานสากลใหม่ สำหรับโครงการแรกของคณะกรรมการนี้จะเป็นการพัฒนากรอบการทำงานสำหรับการเงินที่ยั่งยืนซึ่งเป็นแนวคิดรวบยอดที่มีอยู่แล้วและพิจารณาคำศัพท์ที่ใช้ร่วมกัน

ไมค์ เฮนิแกน เลขานุการของคณะกรรมการดังกล่าว ระบุว่ามีมาตรฐานด้านธรรมาภิบาล การเงิน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนรวมทั้งหัวข้อที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เช่น พันธบัตรสีเขียว แต่ยังไม่มีมาตรฐานใดที่ครอบคลุมถึงการเงินที่ยั่งยืน

เป้าหมายของคณะกรรมการ ISO/TC 322 คือการมุ่งไปที่การเงินที่ยั่งยืนเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและมีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบการเงินทั่วโลกกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานที่มีอยู่สามารถทำให้มาตรฐานด้านการเงินที่ยั่งยืนมีความชัดเจนและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และสามารถจัดหาคำศัพท์ที่ใช้ร่วมกันได้รวมทั้งวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดและแนวทางการใช้งานในระดับสากล

กรอบการทำงานครั้งแรกนี้จะช่วยทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่ยั่งยืนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไปได้และจะทำให้มีผู้เล่นในตลาดมากขึ้นด้วย

ส่วนงานในอนาคตของคณะกรรมการนี้จะพิจารณาถึงการรวมเอาเรื่องของความยั่งยืนเข้ากับการตัดสินใจในด้านการเงิน การบริการและผลิตภัณฑ์ การตัดสินใจด้านการลงทุนที่จะทำให้บรรลุผลด้านสังคมที่ดี นอกเหนือจากด้านผลตอบแทนทางการเงิน การเงินสีเขียว ซึ่งจะรวมเอาการเงินที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเข้าไว้ด้วยเพื่อสนับสนุนแนวคิดด้านพลังงานสะอาด พร้อมด้วยการเงินที่สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมที่กว้างขึ้น รวมทั้งการลงทุนเกี่ยวกับโครงการเฉพาะ เช่น โครงการประสิทธิผลด้านพลังงาน และเมืองที่ยั่งยืน เป็นต้น

ในอนาคตอันใกล้นี้ โลกของเราจะก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วย “การเงินที่ยั่งยืน” จากการทำงานของคณะกรรมการ ISO/TC 322 ซึ่งไอเอสโอเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนสำคัญในการทำให้โลกของเราบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา : https://www.iso.org/news/ref2350.html