มาตรฐานสากลเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ

Biodiversity-and-Standardization

เมื่อเร็วๆ นี้ วารสาร MASCIInnoversity ได้นำเสนอบทความ เรื่อง “ปลายทางความยั่งยืนอยู่ที่ “ความหลากหลายทางชีวภาพ”” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพในที่จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งไอเอสโอได้นำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาในการพัฒนามาตรฐานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพแล้วเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ไอเอสโอตระหนักดีว่า “มาตรฐาน” คือวิธีที่จะทำให้โลกสามารถหยุดยั้งการสูญเสียธรรมชาติและฟื้นฟูธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการกำหนดมาตรฐานระดับแนวหน้าก็ได้กล่าวไว้นลักษณะนี้เช่นกันในงานประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ CBD COP15 (UN Convention on Biological Diversity) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา

ในเวทีการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD COP15) ดังกล่าว ผู้นำระดับโลกได้ให้ความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับกรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกฉบับใหม่ระยะเวลา 10 ปี การประชุมนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการประชุม COP27 ซึ่งทั่วโลกต่างพาดหัวข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ

แคโรไลน์ ลุยเลรี ผู้จัดการคณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพของไอเอสโอ (ISO/TC 331) กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่จะใช้มาตรการเร่งด่วนให้มีการใช้มาตรฐานเพื่อต่อสู้กับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมา เธอกล่าวว่า “เราต้องพัฒนามาตรฐานสากลที่เข้มงวดและเป็นที่ยอมรับเพื่อเป็นสัญญาณและสัญลักษณ์ของคุณภาพและความไว้วางใจ  ในขณะที่มาตรฐานกำลังได้รับการพัฒนา ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลกที่จะมีส่วนร่วมและมีอิทธิพลต่ออนาคตร่วมกันของเรา”

ลอเร เดนอส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) อธิบายถึงการพัฒนากรอบการทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก ในปัจจุบันว่า หลังปี 2563 (ค.ศ.2020) มีตัวอย่างที่ดีในการให้ความสำคัญของมาตรฐานสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมซึ่งมาตรฐานได้สนับสนุนกรอบการทำงานอย่างสอดคล้อง และสามารถนำไปเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ได้ และสามารถนำไปใช้ในการทำรายงาน

นอกจากนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ธุรกิจและอุตสาหกรรมอาจมีผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ แม้ว่าภาคเอกชนจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาเช่นกัน

ทางภาคเอกชน  ดร. ดาวิด อัลวาเรซ การ์เซีย ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ECOACSA ได้ให้ข้อคิดเห็นที่สำคัญสำหรับภาคเอกชนไว้ว่าบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องรวมมาตรฐานสากลสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพไว้ในกลยุทธ์ของบริษัท  ตอนนี้เป็นช่วงที่บริษัทต่างๆ จะมีโอกาสที่สำคัญในการมีส่วนร่วมเชิงนวัตกรรมและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในดารดำเนินการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เขาเชื่อว่าภาคเอกชนสามารถแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนามาตรฐานสากลเพื่อให้โลกของเราดีขึ้น และเพื่อให้บริษัททั่วโลกมีการนำมาตรฐานสากลไปใช้อย่างกว้างขวาง  ไอเอสโอจึงคำนึงถึงภาคเอกชนเมื่อทำการพัฒนามาตรฐานด้วย

ส่วนเอมิลิโอ เตเฮดอร์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและคุณภาพของบริษัท ไอเบอร์โดรรา  (Iberdrola) ซึ่งให้บริการด้านพลังงานหมุนเวียน ได้กล่าวว่าเมื่อมีการพัฒนามาตรฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว มาตรฐานก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาและสามารถบรรลุเป้าหมายในระดับสากลด้วย ซึ่งเขาปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเพื่อที่ว่าคนทั่วโลกจะได้รับประโยชน์เหล่านั้นเช่นกัน

แม้ว่ามาตรฐานความหลากหลายทางชีวภาพจะทำให้ภาคเอกชนหันมาให้ความใส่ใจ แต่ก็ต้องไม่ลืมชุมชนท้องถิ่นในส่วนกลางด้วยซึ่งก็มีความสำคัญและมีบทบาทในการบรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมทองคำของอินเดีย

ดร. วินอด มาเธอร์ ผู้ประสานงานคณะทำงานวิชาการ ISO/TC 331, Biodiversity ซึ่งดูแลด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์ และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวถึงความสำคัญของมาตรฐานในการประเมินความบริสุทธิ์ของทองคำที่ฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและค่านิยมของอินเดียว่า “การพัฒนามาตรฐานสำหรับการดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น และการเพิ่มผลกระทบระดับโลกอย่างมหาศาล จะต้องสร้างขึ้นจากแนวคิดเดียวกัน” เขากล่าวว่าการดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้นที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมายและมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ส่วนผู้บรรยายในงานอย่างเป็นทางการของไอเอสโอก็ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสียหายมากกว่าที่เคยเป็นมา ตอนนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทั่วโลกจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อที่ว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตจะได้อยู่อาศัยต่อไปตราบนานเท่านาน และได้เน้นว่า “มาตรฐาน” ก็เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เราสามารถดำเนินการร่วมกันเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถรวมอยู่ในกลยุทธ์ การตัดสินใจ และโครงการต่างๆ ของบริษัทและภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี

ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/12/standards-for-biodiversity.html