สรอ. แสดงความยินดีกับ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เนื่องในโอกาสได้รับเกียรติบัตร ISO 56002 ระบบการจัดการนวัตกรรม

Banner_20201030_cer_inno_cp_201102

นางพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ (สรอ.) หรือ MASCI พร้อมด้วย นายฐานิต ปิยะศิริศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายรับรองระบบ และเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ร่วมแสดงความยินดีกับ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก บางนา กม.21) เนื่องในโอกาสได้รับเกียรติบัตร ISO 56002 ระบบการจัดการนวัตกรรม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563  ณ ห้องบอร์ดรูม ชั้น 30 ซีพีทาวเวอร์ สีลม

บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CPF  โดยคุณสิริพงศ์  อรุณรัตนา  ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์บก  พร้อมผู้บริหารและบุคลากรของบริษัทฯ ให้เกียรติรับมอบเกียรติบัตรมาตรฐาน ISO 56002 ระบบการจัดการนวัตกรรม ในขอบข่าย “การบริหารจัดการนวัตกรรมในโรงงานผลิตอาหารสัตว์บก” ดยเป็นสถานประกอบการรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับประกาศนียบัตร ISO 56002 จาก สรอ.  จากที่ได้รับเกียรติบัตรมาตรฐาน CEN/TS 16555-1 ระบบการจัดการนวัตกรรม ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560  โดยได้เริ่มนำระบบการจัดการนวัตกรรม BS 7000 มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการสร้างและพัฒนาระบบการจัดการนวัตกรรมขององค์กร ต่อเนื่องด้วย CEN/TS 16555-1 และ ISO 56002 ตามลำดับ  แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารและพนักงานในระดับต่างๆ  รวมทั้งการสร้างและพัฒนานวัตกร  การจัดการองค์ความรู้และทรัพย์สินทางปัญญา  และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนานวัตกรรม หรือ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมของบริษัทฯ หรือ CPF Way

20201030_cer_inno_cp_201102-Pic2

ISO 56002: 2019  แนวทางระบบการจัดการนวัตกรรม  (Innovation Management System – Guidance) เป็นมาตรฐานที่ช่วยให้องค์กรมีแนวทางในการกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ นโยบายและวัตถุประสงค์ด้านนวัตกรรม รวมทั้งกระบวนการ ทรัพยากรและสิ่งสนับสนุนต่างๆ ที่จำเป็น  และยังช่วยให้ได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ  อาทิ  การเพิ่มความสามารถในการจัดการความไม่แน่นอน   การเพิ่มการเติบโต รายได้ ความสามารถในการทำผลกำไรและความสามารถในการแข่งขัน   การลดต้นทุนและของเสีย  การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร   การพัฒนาความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืนและความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพปกติ   การเพิ่มความพึงพอใจของผู้ใช้ ลูกค้า ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น   การมีส่วนร่วมของพนักงาน  การเพิ่มชื่อเสียงและคุณค่าขององค์กร

20201030_cer_inno_cp_201102-Pic1

สรอ. ขอแสดงความยินดีและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนานวัตกรรมของบริษัทฯ เพื่อสร้างความยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก”  ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความมั่งคั่งของประเทศไทย เข้าสู่ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Economy)  ในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม