สานฝันนวัตกรให้กลายเป็น “นวัตกรรม” ด้วย ISO 56002 ตอนที่ 3

202011-CREATING--INNOVATION-WITH--ISO-56002-3

บทความเรื่อง “สานฝันนวัตกรให้กลายเป็น “นวัตกรรม” ด้วย ISO 56002 ตอนที่ 1” และ “สานฝันนวัตกรให้กลายเป็น “นวัตกรรม” ด้วย ISO 56002 ตอนที่ 2”  ได้กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมและ ISO 56002 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้  และธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่มักเริ่มจากเล็ก ๆ มีตัวอย่างของบริษัทระดับโลกจำนวนมากที่เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นโซนี่โมบายล์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโซนี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ ADOX บริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กในประเทศอาร์เจนตินา เป็นต้น ซึ่งหากธุรกิจขนาดเล็กต้องการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรม ก็จำเป็นต้องมีแนวทางและเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะได้กล่าวถึงดังต่อไปนี้

กอนซาโล วิเก-รา ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบงานวางแผนกลยุทธ์ ได้กล่าวถึง ADOX ซึ่งเป็นธุรกิจของบิดาว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นด้านสังคมและมีความคล่องตัวในการทำงานโดยมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เขากล่าวว่า ADOX ได้ทำธุรกิจในอาร์เจนตินามาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว และได้ลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ผู้คนในประเทศอาร์เจนตินามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  บริษัทได้เปิดโรงงานต้นแบบที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตอุปกรณ์และเวชภัณฑ์โดยปฏิบัติตามมาตรฐานสากลสูงสุดและสรรหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และยังสนับสนุนการใช้มาตรฐานสากลในอุตสาหกรรม ทำให้ได้รับการรับรองจากสำนักงานบริหารแห่งชาติด้านยา อาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมีชื่อว่า ANMAT (National Administration of Drugs, Food and Medical Devices) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีหอการค้าอุตสาหกรรมด้านโลหะวิทยาซึ่งมีชื่อว่า ADIMRA Centros Tecnológicos (Technological Center of the Metallurgical Industries Chamber)

การลงทุนพัฒนาด้านนวัตกรรมของ ADOX ทำให้บริษัทสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ให้บริการด้วยคุณภาพและราคาที่เหมาะสม มีการให้บริการฝึกอบรมลูกค้าในการใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้องและใช้อะไหล่ในราคาที่คุ้มค่าด้วยการประกันคุณภาพสูงสุด เป็นต้น

กรอบการสร้างนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ

ADOX ยังได้เปรียบเทียบงานที่ทำอยู่กับมาตรฐานสากล  เช่น มาตรฐานการจัดการนวัตกรรม ISO 56002 ทำให้ สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ สามารถพัฒนาทีมพิเศษและตัวชี้วัดซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์  ADOX ได้แนะนำว่าความคิดริเริ่มดี ๆ มากมายเกิดขึ้นในองค์กร แต่หากองค์กรไม่จัดเตรียมโครงสร้างที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติตามได้อย่างบรรลุเป้าหมาย ก็จะพลาดโอกาสดี ๆ ที่จะพัฒนาองค์กรและบุคลากร อันที่จริงแล้ว มาตรฐาน ISO 56002 สามารถนำไปใช้และขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แม้แต่ระบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมแบบเดิม  กล่าวคือ สามารถสนับสนุนโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัท ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ด้วยซึ่งการใช้ ISO 56002 เป็นกรอบงานที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการดำเนินโครงการร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร

จากรายงานที่เผยแพร่โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF)  เมื่อปี 2558 (ค.ศ.2015) เรื่อง “นวัตกรรมการทำงานร่วมกัน: การเปลี่ยนแปลงธุรกิจการขับเคลื่อนการเติบโต”  มาร์ค เอสโปซิโต ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ Harvard University Extension School และ Grenoble École de Management ได้กล่าวไว้ว่า “นวัตกรรมทำให้การทำงานด้วยกันมีจุดร่วม และยังเป็นกลไกขององค์กรที่ทันสมัย  คล่องตัว  สามารถสร้างขีดความสามารถใหม่ซึ่งสามารถบุกเบิกแนวคิดใหม่ ๆ รวมทั้งทดสอบขีดจำกัดของตลาด จึงถือได้ว่านวัตกรรมเป็นเพื่อนแท้ของการเติบโต

กอนซาโล วิเก-รา ถือว่าการจัดการนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในยุคดิจิตอลเช่นนี้  โดยทั่วไป ธรรมชาติของงานมักมีวิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับเทคโนโลยี และในการทำงานจะต้องมีการจัดการอย่างซับซ้อนขึ้นกับกลุ่มคนที่มีความสามารถสูง แต่เมื่อคนคุ้นเคยกับการทำงานในโครงการที่แตกต่างกัน  เราจะเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ก็เติบโตขึ้นเช่นกัน และก้าวไปพร้อมกับความเข้าใจที่ลึกซึ้งและกว้างขวางขึ้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์อันเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องซึ่งเปรียบเสมือนวงล้อที่หมุนไปข้างหน้าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีขึ้น

ส่วนโยฮัน กรุนด์สตอร์ม เอียริคสัน รองหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและการตรวจประเมินด้านระบบการจัดการ และคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 279, Innovation Management  กล่าวว่าไม่ว่าเราจะตัดสินใจใช้นวัตกรรมเพราะอะไร (เช่น ต้องการสร้างวัฒนธรรมของความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มโอกาสในการอยู่รอด หรือต้องการสร้างแรงบันดาลใจ) แต่หากเราศึกษาเจาะลึกข้อกำหนดที่อยู่ในมาตรฐาน ISO 56002 แล้วนำไปใช้งานเพื่อก้าวไปสู่การจัดการนวัตกรรมในระดับที่เหมาะสมกับองค์กรของเรา  ในไม่ช้า ก็จะเห็นว่านวัตกรรมที่องค์กรและนวัตกรช่วยกันสร้างขึ้นมาตามความฝันหรือเป้าหมาย จะช่วยสร้างความสามารถให้เพิ่มขึ้นได้ และนวัตกรรมนั้นก็จะมีส่วนสำคัญในการสร้างแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น และก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสขึ้นกว่าเดิม

ที่มา : https://www.iso.org/news/isofocus_142-1.html