อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ ทำแผนเชิงรุกรับศักราชใหม่ 2564 ผลักดันยุทธศาสตร์ 4.0 ใช้เทคโนโลยี ปรับตัวสู้ภัยโควิด-19 ส่งมอบนโยบายให้สถาบันเครือข่ายทั้ง 8 สถาบัน เร่งขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ รวมถึง Start Up เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม รวมพลังฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน พร้อมยังมุ่งสนับสนุนให้ความช่วยเหลือการศึกษาวิชาการในทางอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งสร้างองค์ความรู้ในภาคอุตสาหกรรมในยุควิถีใหม่ (New Normal)
นายเผด็จภัย มีคุณเอี่ยม ประธานกรรมการอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ และคณะกรรมการอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบใหม่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ ปีนี้จึงมีนโยบายเข้มข้นที่จะให้ทั้ง 8 สถาบันภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเข้ามาศึกษาแนวทางบูรณาการงานร่วมกัน ตามวิถีใหม่ (New Normal) โดยกำหนด 6 แนวทางหลักมาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งได้แก่
1.การบริการทดสอบ/ตรวจสอบ รับรองมาตรฐานคุณภาพและการบริการรับรองมาตรฐาน ISO และมาตรฐานระบบต่างๆ โดย สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ดูแลด้านมาตรฐานการบริหารจัดการ รวมไปถึงการเพิ่มองค์ความรู้เรื่องดิจิทัล และเทคโนโลยีในเรื่องอุตสาหกรรมให้ผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอุตสาหกรรม/อาหารแปรรูป ดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์, Wellness Economy/New Normal/Next Normal ตลอดจน สร้างการรับรู้และตรวจสอบรับรองผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ You Tube (MASCI Channel), Website, Facebook, Podcast รับสถานการณ์ที่ไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
2.การพัฒนาบุคลากร บริการปรึกษาพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และองค์กร โดย สถาบันไทย-เยอรมัน มี โครงการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชน สมาร์ทเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ความรู้พัฒนาให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนและปรับตัว ผ่านการให้คำปรึกษา ตลอดจนยังมีโครงการผลิตช่างเทคนิคแก่ผู้พิการและด้อยโอกาส ให้มีอาชีพเลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้
3.ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรม (IU) นโยบายอุตสาหกรรมและ Industry Foresight จากการทำงานของสถาบันพลาสติก ที่จัดทำโครงการพัฒนาศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมพลาสติก (PIU) เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมพลาสติกซึ่งมีการใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายให้ลดต้นทุนและมีนวัตกรรม ส่วน สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ดำเนินการโครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลเชิงลึกภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล รวมถึงไปเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเป็นแหล่งอาหารแห่งความยั่งยืนของโลกท่ามกลางวิกฤตโควิด19 อีกด้วย
4.การสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์และพัฒนาช่องทางการตลาด ยกตัวอย่าง เช่น สถาบันอาหาร ปีนี้จัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลโครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยนำมาตรฐานผลิตภาพและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ หวังยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร และผู้บริโภครับประทานสะอาดปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของผู้ประกอบการส่งออกของไทย
5.การพัฒนาอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์และศูนย์ความเป็นเลิศ ของ สถาบันยานยนต์ ในปีนี้ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้จุดยืนการเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้และพัฒนา ด้าน Mobility ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตสู่สังคม ในขณะที่ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีศูนย์พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และการปรับตัวเข้าสู่ตลาดใหม่ของคลัสเตอร์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมถึงการเข้าร่วมโครงการ Handy Sense Open Innovation เกษตรอัจฉริยะ (เนคเทค) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ให้นำอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมาใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรมากขึ้น
6. Industry Transformation หรือการปฏิรูปอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ของ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีหน้ากากผ้าที่มีประสิทธิภาพขั้นสูง และจัดทำมาตรฐานของหน้ากาก และชุด PPE เพื่อสนับสนุนงานทางการแพทย์ในช่วงโควิด-19 รวมถึงจัดกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้การทำหน้ากากผ้าให้ได้ Smart Fabric และพัฒนาช่องทางจำหน่ายใหม่แบบ New Normal ผ่านระบบออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการ และยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอให้กับ SMEs ของไทย
นายเผด็จภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า 8 สถาบันนี้จะเป็นผู้มีบทบาทมากขึ้นในการให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ชี้แนะแนวทาง พร้อมให้การสนับสนุน ช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ ต่ออุตสาหกรรม หรือสมาชิกของสถาบันฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาช่องทางการตลาดตามวิถี New Normal ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หวังจะดันภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมสามารถขับเคลื่อนฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน อาทิเช่น ช่องทางการตลาด และการขายที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ขายสินค้าได้ ทั้งระบบออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ รวมถึง ภาคแรงงาน ซึ่งจะพบว่าการกลับมาของโควิดรอบที่ 2 ปัญหาใหญ่เกิดจากแรงงาน ฉะนั้น สถาบันภายใต้มูลนิธิที่มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเข้ามาช่วยกระตุ้นความต้องการและช่วยผลักดันให้เกิดการใช้ระบบอัตโนมัติและแขนกลมากขึ้นเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทยที่เรื้อรังมานาน จนต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว อันจะเป็นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยจากการผลิตขั้นพื้นฐานไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอีกด้วย
“ทิศทางเหล่านี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ ได้มีการพัฒนาและทำงานศึกษาแนวทางบูรณาการงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับทั้ง 8 สถาบัน และได้จัดทำ Work Plan ร่วมกัน ยกระดับความสำคัญยุทธศาสตร์ 4.0 ตามกรอบนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรม และร่วมฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายเผด็จภัย กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา :
- https://www.prachachat.net/public-relations/news-594923
- https://www.onlinenewstime.com/อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ/pr-news/