ไอเอสโอบูรณาการมาตรฐานป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่น

International-Anti-Corruption-Day-2021

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (International Anti-Corruption Day) ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมาตรฐานไอเอสโอที่มีส่วนช่วยทำให้โลกมีความเป็นธรรมมากขึ้นจากการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการอย่างมีธรรมาภิบาล

การบริหารกิจการด้วยหลักธรรมาภิบาลจะทำให้เกิดการทำงานด้วยถูกต้องตามกฎระเบียบและมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และห่างไกลจากการเกิดคอร์รัปชั่น  การทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนเท่านั้น  แต่ยังทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน และส่งผลต่อความยากจนอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในสิ่งสำคัญที่องค์การสหประชาชาติบรรจุไว้ในวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ได้รวมถึงการควบคุมรูปแบบและการแสดงออกของการทุจริตในทุกรูปแบบทั่วโลกด้วย

ปี 2564 เป็นปีที่สำคัญสำหรับการดำเนินการต่อต้านการทุจริตทั่วโลก โดยมีความพยายามที่จะยกระดับความคิดริเริ่มต่อต้านการทุจริตและเร่งดำเนินการตามอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่มีผลผูกพันทางกฎหมายทั่วโลกและครอบคลุมอย่างแท้จริงต่อสิ่งที่เปรียบเสมือนอาชญากรรมนี้

เนื่องในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล วารสารไอเอสโอโฟกัสได้พูดคุยกับเควิน เบรียร์ผู้ซึ่งต่อสู้กับการติดสินบนและการทุจริตมากว่า 35 ปี ช่วงแรกของการทำงานได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงลอนดอน และปัจจุบัน ทำงานในภาคเอกชน เขาได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นตลอดชีวิตในการอุทิศเวลาอย่างมากมายในการช่วยให้องค์กรหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับคนที่ไม่ดีและบริษัทที่ไม่ดี

นอกจากนี้ เขายังได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการไอเอสโอ ISO/TC 309, Governance of organizations  ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เบรียร์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะวางมาตรฐานไอเอสโอให้เป็นศูนย์กลางในการต่อสู้กับการทุจริต

เควิน เบรียร์ได้เล่าถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายด้านการทุจริตที่เร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน ผลกระทบของการทุจริตต่อการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งวิธีที่มาตรฐานไอเอสโอสามารถช่วยให้โลกปลอดจากการทุจริต

สำหรับคำถามที่ว่า “การต่อต้านคอร์รัปชั่นเร่งด่วนหรือท้าทายที่สุดในปัจจุบันคืออะไร” เขาตอบว่าต้นทุนการคอร์รัปชั่นทางเศรษฐกิจทั่วโลกนั้นน่าแปลกใจ และบ่อนทำลายความพยายามของทุกประเทศในการพัฒนาชีวิตของพลเมือง สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF (World Economic Forum) ประมาณการเมื่อปี 2561 (ค.ศ.2018) ว่า 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5% ของ GDP โลก สูญเสียไปกับการคอร์รัปชั่น แม้จะมีความพยายามอย่างดีที่สุดในหลายประเทศเพื่อป้องกันการทุจริต แต่สถานการณ์นั้นยังไม่ดีขึ้นจริง ๆ และผู้ยากไร้และเปราะบางที่สุดในโลกคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทุจริตมากที่สุด มีรายงานว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงิน 7.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเพื่อให้บริการดูแลสุขภาพแก่พลเมืองโลก แต่เงินจำนวน 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 7 สูญเสียไปเนื่องจากการทุจริต

องค์การอนามัยโลกประเมินว่าค่าใช้จ่ายในการให้การรักษาพยาบาลฟรีแก่พลเมืองทุกคนในโลกอยู่ที่ 370 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกด้วยว่าการทุจริตจะทำให้เพิ่มค่าครองชีพในชีวิตประจำวันกับผู้คนโดยทางอ้อม และท้ายที่สุด ยังสามารถนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนการผลิตและลดความสามารถในการทำกำไรของการลงทุนอีกด้วย

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งมาตรฐานไอเอสโอมีมูลค่าเพิ่มเปรียบเทียบกับมาตรฐานอื่นๆ  เนื่องจากมาตรฐานไอเอสโอได้รับการพัฒนาโดยใช้แนวทางที่ขับเคลื่อนโดยฉันทามติหรือความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งสร้างขึ้นจากแนวปฏิบัติที่ดีที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว มาตรฐานของผู้พัฒนาเองนั้นมาจากการจัดอันดับของผู้เชี่ยวชาญที่ดีที่สุดในโลกในสาขาของตน ด้วยเหตุนี้ มาตรฐานที่เผยแพร่จึงได้รับการออกแบบมาให้ใช้ได้กับทุกองค์กร โดยไม่คำนึงถึงขนาด ภาคอุตสาหกรรม ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ หรือการโน้มน้าวใจทางการเมือง ซึ่งหมายความว่ามาตรฐานไอเอสโอสามารถให้การวัดประสิทธิภาพที่สอดคล้องกัน แนวทางปฏิบัติที่ดีขึ้น และวิธีการทั่วไปที่ทุกองค์กรสามารถใช้ประโยชน์และนำไปใช้ได้เป็นอย่างดี

ผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอ (TC) สามารถใช้แนวทางเชิงกลยุทธ์เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของอุตสาหกรรมสำหรับเอกสารได้ ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญใน TC 309 ได้สร้าง ISO 37000 ซึ่งให้แนวทางในการกำกับดูแลองค์กร จากนั้น สมาชิกของ TC ก็สร้างรากฐานที่มั่นคงด้วยการเผยแพร่ ISO 37001, Anti-bribery Management (การจัดการต่อต้านการติดสินบน), ISO 37002, Whistleblowing (การแจ้งเบาะแส) และ ISO 37301, Compliance Management (การจัดการการปฏิบัติตามข้อกำหนด) ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญ TC 309 กำลังพัฒนามาตรฐานการสืบสวนภายใน และข้อเสนอใหม่ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนามาตรฐานในมาตรการต่อต้านการฉ้อโกง  มาตรฐานเหล่านี้ เมื่อนำมารวมกัน ก็จะสามารถนำมาใช้เพื่อให้มีแนวทางที่บูรณาการมากขึ้นในการต่อสู้กับการทุจริตทั่วโลก

สำหรับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมของมาตรฐานไอเอสโอ ISO 37001 ในการต่อต้านการทุจริตนั้น เขากล่าวว่ามาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานระบบการจัดการต่อต้านการให้สินบน ซึ่งเป็นข้อกำหนดพร้อมคำแนะนำสำหรับการใช้งาน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั่วโลกโดยมีคุณค่าในการต่อสู้กับการติดสินบนและการทุจริต  อันที่จริง มีการใช้มาตรฐาน ISO 37001 แล้วโดยองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายแห่ง เช่น Microsoft (สหรัฐอเมริกา), Alstom (ฝรั่งเศส), Eni (อิตาลี) และ SKK Migas (อินโดนีเซีย) เป็นต้น

มาตรฐาน ISO 37001 ยังได้รับการยอมรับถึงคุณค่าอย่างแท้จริงจากรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้ประเทศเปรูและสิงคโปร์ยอมรับมาตรฐาน ISO 37001  และที่น่าสนใจคือ มาตรฐานนี้ยังได้รับการอ้างถึงว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่แนะนำโดยองค์กรกีฬาระดับนานาชาติหลายแห่ง ซึ่งไอเอสโอหวังว่าเมื่อมีการนำมาตรฐานนี้ไปใช้ในอีกไม่กี่เดือนและหลายปีต่อจากนี้ ก็จะทำให้พลเมืองทั่วโลกได้รับประโยชน์อย่างมากมาย รวมทั้งส่งผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจด้วย

ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2772.html