วันสากลอากาศสะอาดเพื่อท้องฟ้าสดใส 2564

INTERNATIONAL-DAY-OF-CLEAN-AIR-FOR-BLUE-SKIES-2021_

องค์การสหประชาติได้กำหนดให้วันที่ 7 กันยายนของทุกปี เป็นวันสากลอากาศสะอาดเพื่อท้องฟ้าสดใส (International Day of Clean Air for blue skies)

วันสากลอากาศสะอาดเพื่อท้องฟ้าสดใสถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 (2020) อันเป็นผลจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของอากาศบริสุทธิ์ต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของมนุษย์

สำหรับหัวข้อสำหรับวันสากลอากาศบริสุทธิ์เพื่อท้องฟ้าสดใสในปีนี้คือ “อากาศที่ดีต่อสุขภาพ โลกที่ดีต่อสุขภาพ” (Healthy Air, Healthy Planet) ซึ่งเน้นถึงผลกระทบต่อสุขภาพของมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ในปีนี้ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดลำดับความสำคัญของความต้องการอากาศที่ดีต่อสุขภาพของทุกคน ในขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจครอบคลุมประเด็นสำคัญอื่น ๆ ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพของมนุษย์และดาวเคราะห์ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อโลกของเรา โลกของเราก็จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน สำหรับไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน มีมาตรฐานหลายร้อยมาตรฐานที่แสดงถึงความเห็นพ้องต้องกันระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั้งภายในอาคารและกลางแจ้ง ซึ่งรวมถึงมาตรฐานสำหรับการวัดมลพิษทางอากาศและการปล่อยมลพิษ อากาศในที่ทำงาน อากาศภายในอาคาร และเทคโนโลยีที่ลดมลภาวะทั้งภายในและภายนอก

มาตรฐานลดมพิษ ช่วยชีวิตมนุษย์

มลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้มนุษย์ทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 6.5 ล้านคน การค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดอนุภาคที่เป็นอันตรายและช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณภาพของอากาศที่หมุนเวียนในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ก๊าซที่เป็นอันตราย อนุภาค กลิ่น จุลินทรีย์ และการปล่อยมลพิษจากผลิตภัณฑ์และการตกแต่งอาคาร

ไอเอสโอ จึงได้พัฒนามาตรฐาน  ISO 7708, Air quality – Particle size fraction definitions for health-related sampling ซึ่งเป็นมาตรฐานคุณภาพอากาศ –คำนิยามเศษส่วนของขนาดอนุภาคสำหรับการสุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ   และมาตรฐาน ISO 13138,Air quality – Sampling conventions for airborne particle deposition in the human respiratory system ซึ่งเป็นมาตรฐานคุณภาพอากาศที่เป็นข้อตกลงการสุ่มตัวอย่างสำหรับการสะสมอนุภาคในอากาศในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีชุดมาตรฐาน  ISO 16000 series สำหรับอากาศภายในอาคารด้วย มาตรฐานเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของมาตรฐานที่สนับสนุนเทคโนโลยีเหล่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานที่ช่วยให้ผู้คนราว 3 พันล้านคนซึ่งต้องพึ่งพาไฟเปิดที่ก่อมลพิษหรือเตาที่ไม่มีประสิทธิภาพในการปรุงอาหารได้รับความปลอดภัยมากขึ้น เพราะเตาไฟแบบเปิดโล่งทำให้ผู้ใช้งานต้องเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร  ซึ่งมาตรฐานนั้นก็คือ ISO 19869, Clean cookstoves and clean cooking solutions – Field testing methods for cookstoves ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับเตาปรุงอาหารที่สะอาดและช่วยให้มีการทำอาหารที่สะอาด  พร้อมทั้งมีวิธีการทดสอบภาคสนามสำหรับเตาปรุงอาหาร สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาอุปกรณ์การปรุงอาหารที่สะอาดกว่า และยังเป็นแนวทางในการประเมินวิธีการที่มีอยู่สำหรับการทดสอบเตาปรุงอาหาร ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ด้วย

มาตรฐานไอเอสโอช่วยลดมลพิษให้โลกของเรา

ไอเอสโอยังมีมาตรฐานอีกมากมายที่สนับสนุนวิธีการลดมลพิษทางอากาศ เช่น มาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ไฮบริด และเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งรวมถึง ISO 20762, Electrically propelled road vehicles – Determination of power for propulsion of hybrid electric vehicle ซึ่งเป็นมาตรฐานยานพาหนะสำหรับถนนที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และการกำหนดกำลังสำหรับการขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และ ISO 23274, Hybrid-electric road vehicles – Exhaust emissions and fuel consumption measurements ซึ่งเป็นมาตรฐานยานยนต์สำหรับถนนที่ใช้ไฟฟ้าแบบไฮบริด  และการวัดการปล่อยไอเสียและการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

มาตรฐานทั้งหมดเหล่านี้มีส่วนสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) หลายประการรวมถึงเป้าหมายด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3: Good health and wellbeing) พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (SDG 7: Affordable and clean energy) และปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13)

นอกจากการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้โดยองค์กรต่างๆ แล้ว  เราในฐานะปัจเจกบุคคลก็สามารถช่วยกันทำให้อากาศสะอาดขึ้นได้เช่กัน ด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดการเผาไหม้  เปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือก และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้โลกของเรามีอากาศที่ดีขึ้นและมีท้องฟ้าที่สดใสมากขึ้น

ผู้สนใจมาตรฐานดังกล่าวสามารถศึกษาได้จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือส่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store

ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2715.html