เป็นที่ทราบกันดีว่าการรับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติตามฤดูกาลจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่หากพูดถึงส่วนผสมของอาหารที่เป็นธรรมชาติ อาหารแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นอาหาร “ธรรมชาติ” ขณะนี้ ไอเอสโอมีข้อกำหนดทางเทคนิคใหม่ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มพูดภาษาเดียวกัน
แม้ว่าความสนใจของผู้บริโภคมากมายจะมุ่งไปหาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น “ธรรมชาติ” แต่สิ่งที่เป็นส่วนผสมของอาหารธรรมชาตินั้น เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว เกี่ยวกับเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการที่มีชื่อว่า Codex Alimentarius Commission ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก Codex ทุกประเทศรวมทั้งประเทศที่เป็นสมาชิกของ FAO หรือ WHO ได้มีความพยายามในการจัดทำข้อกำหนดด้านกระบวนการอาหารและส่วนผสมอาหารธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่ออกมาเป็นรูปร่างจนกระทั่งปัจจุบัน ไอเอสโอได้กำหนดข้อกำหนดทางเทคนิค ISO/TS 19657: 2017 นิยามและเกณฑ์ทางวิชาการสำหรับส่วนผสมอาหารที่เป็นธรรมชาติ (Definitions and technical criteria for food ingredients to be considered as natural) ขึ้นมา
วัตถุประสงค์ของเอกสารนี้ก็คือ เพื่อจัดเตรียมเกณฑ์ที่จำเป็นสำหรับส่วนผสมของอาหารที่เป็นธรรมชาติซึ่งอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้อ้างอิงเมื่อทั่วโลกทำการค้าเสรี
ในบางภูมิภาคของโลก การขาดเกณฑ์ในลักษณะนี้ได้นำไปสู่การฟ้องร้องมากมาย มาตรฐานใหม่ ISO/TS 19657 จึงเสนอเกณฑ์สำหรับการสื่อสารสำหรับประเภทธุรกิจกับธุรกิจเกี่ยวกับส่วนผสมของอาหารธรรมชาติ ซึ่งช่วยให้มีการปฏิบัติทางธุรกิจที่เป็นธรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แต่เอกสารนี้ไม่ได้นำไปใช้กับการสื่อสารผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค เช่น ฉลากบรรจุภัณฑ์
โดมินิค แทย์มานส์ ผู้ประสานงานกลุ่มที่พัฒนาข้อกำหนดทางวิชาการ อธิบายว่าข้อกำหนดทางวิชาการประกอบด้วยแนวทางพื้นฐานที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มพูดภาษาเดียวกัน ซึ่งเป็นหัวข้อที่อาจจะดูซับซ้อน จึงให้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมืออาชีพมีแนวทางพื้นฐานร่วมกันเพื่อก้าวสู่การกำหนดมาตรฐานที่เป็นแนวทางเดียวกันต่อไป
ISO/TS 19657: 2017 เน้นความต้องการของบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม และผู้ผลิตส่วนผสมของอาหารทุกบริษัท โดยไม่จำเป็นว่าจะเป็นบริษัทขนาดใดและมีความซับซ้อนเพียงใด ซึ่งเอกสารมาตรฐานนี้จะทำให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นธรรมสำหรับธุรกิจทุกประเภท
มาตรฐาน ISO/TS 19657:2017 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 34, Food products ภายใต้กลุ่ม 18 ส่วนผสมอาหารธรรมชาติ ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อจากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2254.html