เสริม EMS ด้วยการออกแบบเชิงนิเวศ “ISO 14006”

ISO-14006-EMS--Guidelines-for-Incorporating-Eco-design

ธุรกิจองค์กรต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบนั้นเองก็ตาม ปัจจุบัน ธุรกิจองค์กรต่างก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง ดังนั้น การรวมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในการออกแบบและการพัฒนาโดยคำนึงถึงวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้โดยทั่วไปเรียกว่า “การออกแบบเชิงนิเวศ” บางครั้งก็ใช้คำว่า การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ การออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือการออกแบบที่ยั่งยืน/เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การออกแบบและการพัฒนาถือเป็นกระบวนการที่สำคัญซึ่งการออกแบบเชิงนิเวศได้รวมอยู่ในมาตรฐานฉบับนี้แล้ว คือ ISO 14006 – Environmental management systems — Guidelines for incorporating eco-design มาตรฐานฉบับนี้เป็นส่วนเสริมของมาตรฐานชุด ISO 14000 ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คำแนะนำสำหรับองค์กรที่ต้องการรวมการออกแบบเชิงนิเวศเข้ากับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (EMS) ที่ใช้ ISO 14001 รวมทั้งองค์กรที่ใช้ระบบการจัดการอื่นๆ ก็สามารถนำไปใช้ร่วมกันได้เช่นกัน  นอกจากนี้ ธุรกิจองค์กรสามารถนำไปใช้ร่วมกับมาตรฐานไอเอสโอที่มีอยู่แล้วได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ISO/TR 14062 – Environmental management — Integrating environmental aspects into product design and development และ  IEC 62430   – Environmentally conscious design (ECD) – Principles, requirements and guidance เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม มาตรฐานฉบับนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับการรับรอง แต่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบเชิงนิเวศได้

ISO 14006 ซึ่งได้รับการปรับปรุงเมื่อเดือนมกราคม 2563 (ค.ศ.2020) เป็นมาตรฐานที่เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้องค์กรนำไปใช้ในการจัดตั้ง การบันทึก การนำไปใช้ การบำรุงรักษา และปรับปรุงการจัดการการออกแบบเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่องโดยเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการสิ่งแวดล้อมซึ่งจะใช้กับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์และ/หรือบริการขององค์กรที่ควบคุมดูแล

มาตรฐาน ISO 14006 เป็นแนวทางที่เป็นระบบซึ่งพิจารณาถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในการออกแบบและการพัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ในเอกสารนี้ เป็นที่เข้าใจกันว่าระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมควรคำนึงถึงการออกแบบและการพัฒนา และภายในเรื่องนี้ การออกแบบเชิงนิเวศเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นั้น

การออกแบบเชิงนิเวศควรนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ใหม่และผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ รวมถึงการดัดแปลงกระบวนการตามความจำเป็นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์

มาตรฐานนี้ได้รับการพัฒนาโดย คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207, Environmental management, คณะอนุกรรมการ  SC 1, Environmental management systems

ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ  ISO Store

ที่มา :

1. https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/news/magazine/ISO%20Focus+%20(2010-2013)/en/2010/ISO%20Focus+,%20January%202010.pdf
2. https://www.iso.org/standard/72644.html