ISO 3166 รหัสสากลเพื่อความชัดเจนและป้องกันความผิดพลาด

ISO-3166-Defines-Internationally-Recognized-Codes

ถ้าพูดถึงรหัส เป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับความลับ และความลึกลับ   แต่บางครั้ง ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รหัสก็ให้ความชัดเจนและความสม่ำเสมอได้เช่นกัน  ซึ่งอยู่ในระบบสำคัญบางอย่างที่สนับสนุนในชีวิตประจำวันของเราและทำให้เราเชื่อมต่อถึงกันได้ เช่น การชำระเงินออนไลน์ระหว่างประเทศหรือโอนเงินไปต่างประเทศ เป็นต้น

เมื่อปี 2565 (ค.ศ.2021)  ประชากรโลกจำนวน 76% มีบัญชีธนาคารอยู่ในมือ ซึ่งการโอนเงินระหว่างประเทศอาจมีความเสี่ยงได้หากไม่มีรหัสที่ชัดเจน แต่เนื่องจากมีการกำหนดรหัสที่ชัดเจนและไม่ซ้ำกันในการระบุบัญชีผู้ส่งและผู้รับด้วยระบบรหัส IBAN (International Bank Account Number) ธุรกรรมหลายพันล้านรายการทั่วโลกจึงเกิดขึ้นได้ทุกวันอย่างราบรื่นและปลอดภัย

แล้วถ้าเราจะส่งพัสดุไปให้คนในครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น  จากสถิติ ประชากรโลกจำนวน 93.1% สามารถเข้าถึงบริการไปรษณีย์ได้เมื่อปี 2563 (ค.ศ.2020) แต่ถ้าเราระบุรหัสประเทศไม่ถูกต้อง องค์กรไปรษณีย์และผู้จัดส่งระหว่างประเทศอาจจะมีปัญหาในการขนส่ง และทำให้พัสดุของเราไปไม่ถึงผู้รับ

พวกเราส่วนใหญ่ใช้รหัสประเทศเหล่านั้นในชีวิตประจำวัน แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่ารหัสพวกนี้ทำงานอย่างไร และทำไมจึงมีความสำคัญ แล้วมันคืออะไรกันแน่

กรณีการระบุตัวตนของประเทศอย่างถูกต้องนั้น การมีชื่อและการสะกดคำหลายชื่อสำหรับแต่ละประเทศจะทำให้มีปัญหาความไม่สอดคล้องกันได้ในชุดข้อมูลและแพลตฟอร์มต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น เพื่อให้สามารถระบุสิ่งนี้ได้อย่างถูกต้อง จึงใช้ตัวอักษรและตัวเลขแบบสั้นซึ่งง่ายต่อการจดจำ และการระบุตัวตน ซึ่งมีการนำมากำหนดเป็นมาตรฐานสากลแล้ว

สำหรับการใช้รหัสของไอเอสโอนั้น ไอเอสโออนุญาตให้ใช้รหัสประเทศ สกุลเงิน และภาษาได้ฟรีจาก ISO 3166, ISO 4217 และ ISO 639 ตามลำดับ  ผู้ใช้รหัสประเทศจากไอเอสโอสามารถเลือกสมัครใช้บริการแบบชำระเงินซึ่งจะอัปเดตและให้ข้อมูลในรูปแบบที่พร้อมใช้งานโดยอัตโนมัติ (csv, .xml and .xls format) สำหรับแอปพลิเคชันที่หลากหลาย

สำหรับมาตรฐาน ISO 3166 ที่ไอเอสโอได้พัฒนาขึ้นนั้นได้มีการกำหนดรหัสที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรและตัวเลข ซึ่งเป็นตัวระบุสั้นๆ ที่ไม่ซ้ำกันสำหรับประเทศต่าง ดินแดนในภาวะพึ่งพิง (Dependent territory) และพื้นที่พิเศษที่น่าสนใจทางภูมิศาสตร์ ตัวอย่างเช่น อิตาลีใช้ตัวย่อว่า IT, ITA และ 380 ในขณะที่ญี่ปุ่นคือ JP, JPN และ 392 แนวคิดนี้คือการเป็นตัวแทนของประเทศต่างๆ ในรูปแบบที่สะดวกและคลุมเครือน้อยกว่าชื่อเต็ม

มาตรฐาน ISO 3166 มีทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่  ISO 3166-1: 2020, Codes for the representation of names of countries and their subdivisions Part 1: Country code, ISO 3166-2:2020, Codes for the representation of names of countries and their subdivisions Part 2: Country subdivision code และ ISO 3166-3:2020, Codes for the representation of names of countries and their subdivisions, Part 3: Code for formerly used names of countries ซึ่งไอเอสโอได้ร่วมกับองค์กรสากลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ (เช่น International Civil Aviation Organization (ICAO), Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN) และ Universal Postal Union (UPU) เป็นต้น) ทำการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสำหรับชื่อประเทศและสิ่งที่เกี่ยวข้อง

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store

ที่มา : https://www.iso.org/iso-3166-country-codes.html