มาตรฐานไอเอสโอสร้างความเชื่อมั่นให้คุณภาพการศึกษา

ISO-and-Quality-Education

เรื่องของคุณภาพมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ภาคการศึกษาก็มีความสำคัญมากเช่นกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงแล้วก็จะช่วยสร้างโอกาสที่ดีมากขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

สำหรับไอเอสโอมีความตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 232, Education and learning services ขึ้นมา เพื่อพัฒนามาตรฐานด้านการศึกษาและการเรียนรู้โดยมีพื้นฐานอยู่บนความต้องการของตลาด มีความทันสมัย และให้ข้อเสนอแนะที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษรวมทั้งผู้ใช้งานด้วย

ในขณะที่องค์การสหประชาชาติก็ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ (Goal 4: Quality Education) เช่นกัน สำหรับเป้าหมายที่ 4 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้มุ่งเน้นให้ทุกคนมีหลักประกันสำหรับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เพื่อสนับสนุนเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม  และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนยกระดับคุณภาพด้านการศึกษา  ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวกับการศึกษาแล้วจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่

  1. ISO 21001: 2018, Educational organizations – Management systems for educational organizations – Requirements with guidance for use เป็นมาตรฐานระบบการจัดการด้านการศึกษาฉบับแรกของโลก มาตรฐานนี้มุ่งพัฒนากระบวนการและคุณภาพของสถานศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้งาน
  2. ISO 29991: 2020 Language-learning services – Requirements เป็นมาตรฐานสำหรับบริการการเรียนรู้ภาษาเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้และประเมินผล ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบตัวต่อตัวหรือผ่านเทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง หรือทั้งสองแบบ
  3. ISO 29992: 2018, Assessment of outcomes of learning services – Guidance เป็นมาตรฐานที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผน การพัฒนา การนำไปใช้ และการทบทวนการประเมินผลลัพธ์ของบริการการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่ความรู้ ความสามารถ และประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับองค์กรที่ให้บริการการเรียนรู้และองค์กรที่ใช้แบบประเมินหรือพัฒนาแบบประเมิน
  4. ISO 29993: 2017, Learning services outside formal education – Service requirements เป็นมาตรฐานที่อธิบายข้อกำหนดสำหรับบริการการเรียนรู้ที่จัดโดยการศึกษานอกระบบ และครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกประเภท รวมทั้งอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมในบริษัท เป็นต้น
  5. ISO 29994: 2021, Education and learning services – Requirements for distance learning เป็นมาตรฐานที่ระบุข้อกำหนดสำหรับบริการการเรียนรู้ทางไกลที่ไม่ได้ระบุไว้ในมาตรฐาน ISO 29993 เหมาะสำหรับบริการการเรียนรู้ทางไกลสำหรับผู้เรียนรู้เองรวมถึงผู้สนับสนุนที่รับบริการในนามของผู้เรียน
  6. ISO 29995: 2021, Education and learning services – Vocabulary เป็นมาตรฐานข้อกำหนดและคำจำกัดความของบริการการเรียนรู้และการศึกษา ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับผู้ใช้และนักพัฒนามาตรฐาน ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารและทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวข้อกำหนดในสาขาบริการด้านการศึกษาและการเรียนรู้

นอกจากนี้ ไอเอสโอยังอยู่ในระหว่างพัฒนามาตรฐานเกี่ยวกับการศึกษาที่น่าสนใจอีกด้วย เช่น ISO 29996, Education and learning services – Distance and digital learning services (DDLS) – Case studies ซึ่งเป็นมาตรฐานบริการการเรียนรู้และการศึกษาที่เป็นดิจิทัลและทางไกล (กรณีศึกษา) และ ISO 29997, Criteria for quality internships ซึ่งเป็นมาตรฐานข้อกำหนดและแนวคิดที่เกี่ยวกับการฝึกงานที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
องค์กรการศึกษา สถาบันการศึกษา หรือผู้ให้บริการฝึกอบรม สามารถนำมาตรฐานไอเอสโอเกี่ยวกับการศึกษาไปใช้งานช่วยเป็นกลไกในการควบคุมคุณภาพ  เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและตอบสนองความคาดหวังของผู้รับบริการอย่างมีคุณภาพ  สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ตลอดจนสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ที่มา:

  1. https://www.iso.org/sdg/SDG04.html
  2. https://www.iso.org/committee/537864.html