จัดการนวัตกรรมให้มีประสิทธิผลด้วยชุดมาตรฐานการจัดการนวัตกรรม

ISO-Series-of-Innovation-management-for-Business-Success

ปัจจุบัน นวัตกรรมนับเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ให้ก้าวทันคู่แข่ง และไอเอสโอเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงได้พัฒนาชุดมาตรฐานใหม่ที่ช่วยให้องค์กรสามารถค้นหาแนวคิดที่ดีที่สุดจากแนวคิดดีๆ จำนวนมาก และมีการใช้ประโยชน์จากกระบวนการจัดการนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นวัตกรรมไม่เพียงแต่หมายถึงการสร้างสรรค์สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าทึ่งเท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึงการค้นหาวิธีที่ดีกว่าในการทำสิ่งของหรือปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่การปรับปรุงระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญด้วย อย่างไรก็ตาม การประสานเอาแนวคิดเหล่านี้เข้าด้วยกันและทำให้เกิดการปรับปรุงเพื่อกลยุทธ์องค์กรจะทำให้มั่นใจว่าแนวคิดเหล่านั้นได้ผลดีที่สุด

ชุดมาตรฐานใหม่ ISO 56000 มีเป้าหมายในการจัดเตรียมองค์กรให้มีแนวทางและกระบวนการที่ทำให้องค์กรได้รับประโยชน์มากที่สุดจากโครงการนวัตกรรมขององค์กร

มาตรฐาน ISO 56003, Innovation management – Tools and methods for innovation partnership – Guidance เป็นมาตรฐานที่จัดเตรียมแนวทางที่มีโครงสร้างสำหรับองค์กรในการค้นหาวิธีการที่จะนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนนวัตกรรมกับองค์กรอื่น ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าถ้าร่วมมือกับองค์กรอื่นในโครงการนวัตกรรมแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่เท่านั้น แต่ยังช่วยให้มีวิธีคัดเลือกหุ้นส่วนที่เหมาะสมด้วย

การเชื่อมโยงกับหุ้นส่วนที่เหมาะสม และการตกลงร่วมกัน ทำให้มีแนวทางวิธีการที่ดีที่สุดในการมอบหมายบทบาทและความรับผิดชอบรวมทั้งมีการวางคู่มือขั้นตอนการดำเนินงานด้านการควบคุมอย่างมีประสิทธิผล

นอกจากนี้ รายงานทางวิชาการที่มีชื่อว่า ISO/TR 56004, Innovation Management Assessment – Guidance จะช่วยให้องค์กรทบทวนกระบวนการจัดการนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิผล เพื่อที่จะสามารถปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ มาตรฐานใหม่ ISO 56002, Innovation management – Innovation management system – Guidance ที่กำลังจะเกิดขึ้นยังให้แนวทางการพัฒนา การนำไปใช้ การรักษา และการปรับปรุงระบบการจัดการนวัตกรรมอย่างแท้จริงด้วย

อลิส เดอ คาซาโนเว ประธานคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอที่พัฒนามาตรฐานดังกล่าวระบุว่าการจัดการนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิผลจะทำให้องค์กรมีการเติบโตก้าวหน้าอย่างแท้จริงด้วยการทำให้มีการนำความรู้และความคิดสร้างสรรค์ไปใช้งานอย่างง่ายดายกับคนในองค์กรรวมทั้งคนในองค์กรอื่นที่มีความร่วมมือต่อกัน

นวัตกรรมไม่ได้เป็นแต่เพียงการประดิษฐ์คิดค้นที่ใหญ่พอเท่านั้น แต่ยังเป็นความสามารถขององค์กรในการปกป้องและตอบสนองต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อตอบสนองต่อโอกาสใหม่และทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วเกิดประโยชน์มากที่สุดด้วย

ในแง่นี้ แนวคิดใหม่ที่มีความสำคัญที่เรามองเห็นอยู่บ่อยๆ มักจะมาพร้อมกับผลลัพธ์ของแนวคิดเล็กๆ น้อยๆ จำนวนมากและการเปลี่ยนแปลงที่มีการนำไปปรับใช้นั่นเอง ซึ่งมาตรฐานการจัดการนวัตกรรมจะช่วยให้องค์กรทำสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยการเตรียมคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติและแนวทางที่ดีที่สุดที่ช่วยให้องค์กรสามารถติดตามข้อมูลที่เหมาะสม และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผล

คณะกรรมการวิชาการได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) เพื่อใช้งานร่วมกันด้านคำศัพท์ร่วมและโครงสร้างสำหรับนวัตกรรม ดังนั้น ความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” และ “การจัดการนวัตกรรม” จึงมีการนำไปใช้ในมาตรฐานคู่มือแนวทางการรวบรวมและการตีความข้อมูลนวัตกรรมของ OECD ด้วย ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลแนวทางสากลที่สำคัญสำหรับการรวบรวมและการใช้กิจกรรมด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรม

มาตรฐาน ISO 56003: 2019 และ ISO/TR 56004: 2019 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 279, Innovation management มีเลขานุการคือ AFNOR ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส

ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store

https://www.iso.org/news/ref2368.html