
สาระสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) นั้น อันที่จริงแล้ว มีแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับทุกประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการพัฒนาของแต่ละประเทศซึ่งเราเองไม่ว่าจะอยู่ในฐานะปัจเจกชนหรือองค์กรก็สามารถเลือกแนวทางที่เหมาะสมได้ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตเพื่อลูกหลานของเรา
เมื่อปี 2558 (ค.ศ.2015) องค์การสหประชาชาติได้กำหนดแผนงาน 15 ปีในการจัดการกับปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่โลกต้องเผชิญซึ่งทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และสำหรับองค์กรสากลอย่างไอเอสโอก็ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกซึ่งได้รับประโยชน์สูงสุดจากการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศของไอเอสโอ และประเทศสมาชิกต่างนำมาตรฐาน สากลของไอเอสโอไปใช้งานซึ่งมาตรฐานแต่ละฉบับได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
องค์กรและบริษัทต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วมใน SDGs ต่างพบว่ามาตรฐานสากลมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้พวกเขาก้าวไปสู่ความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิผล และมาตรฐานสากลยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้รัฐบาล
อุตสาหกรรม และผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อด้วยดังต่อไปนี้
รัฐบาล
หน่วยงานกำกับดูแลสามารถพึ่งพามาตรฐานไอเอสโอซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ต่อไป เช่น สิทธิมนุษยชน ประสิทธิภาพการใช้น้ำและพลังงาน สาธารณสุข และอื่นๆ มาตรฐานสากลยังช่วยให้รัฐบาลบรรลุพันธสัญญาในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศอีกด้วย
อุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการบรรลุ SDGs ทั้งหมดโดยมาตรฐานไอเอสโอได้ให้แนวทางและกรอบการทำงานในทุกเรื่อง ตั้งแต่สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน การใช้พลังงาน ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภค
ในขณะที่การมีส่วนร่วมกับ SDGs อยู่ในอันดับสูงในวาระการประชุมของผู้นำทางธุรกิจและนักลการเมือง ผลประโยชน์หลายอย่างนั้นสามารถเห็นได้ชัดในระดับชุมชน ท้องถิ่น ความยากจนที่ลดลง สุขภาพที่ดีขึ้น น้ำที่สะอาดและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยและมั่นคงเป็นเพียงผลประโยชน์บางส่วนที่ได้รับจากการนำมาตรฐานไอเอสโอไปใช้เท่านั้น ยังมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกมากมายสำหรับผู้บริโภค
ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐานสากลและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปแล้วมากกว่า 22,000 ฉบับซึ่งเป็นแนวทางและกรอบการทำงานที่ได้พัฒนาขึ้นมาจากฉันทามติ และได้รับการยอมรับทั่วโลกจากความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นรากฐานที่มั่นคงซึ่งทำให้นวัตกรรมสามารถเติบโตได้ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาล อุตสาหกรรม และผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการบรรลุผลสำเร็จของ SDG ทั้ง 17 ข้อด้วย
เราสามารถตรวจสอบว่ามาตรฐานแต่ละฉบับมีส่วนในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ข้อใดจากเว็บไซต์ของไอเอสโอในหน้าหลักของมาตรฐานไอเอสโอแต่ละฉบับ เช่น มาตรฐาน ISO 13485, Medical devices — Quality management systems — Requirements for regulatory purposes มีส่วนสำคัญในการบรรลุ SDGs ข้อ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) และข้อ 10 ลดความไม่เท่าเทียมกันหรือความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) เป็นต้น
การที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้นหมายถึงความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทุกประเทศได้ดำเนินการอย่างสอดคล้องตามลำดับความสำคัญในการพัฒนาประเทศโดยมีมาตรฐานไอเอสโอเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ต่อไป
ที่มา: