มาตรฐานไอเอสโอกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ISO standards Help Achieve the SDGs

วารสาร MASCIInnoversity ได้นำเสนอบทความเรื่อง “มาตรฐานสากลช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยเน้นถึงความร่วมมือของไอเอสโอกับกลุ่มธนาคารโลก และเรื่องของ “มาตรฐานสากล” ที่เป็นตัวช่วยที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับบทความในครั้งนี้จะกล่าวถึงบทบาทไอเอสโอในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาพรวมดังต่อไปนี้

มาตรฐานไอเอสโอมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากไอเอสโอจะพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยตรงแล้ว ไอเอสโอยังได้รวมเอาประเด็นสำคัญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าไปในการพัฒนามาตรฐานสากลทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการด้วย  โดยไอเอสโอได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการพัฒนามาตรฐานสากลตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เน้นทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายความว่าโครงสร้างพื้นฐานของไอเอสโอได้รับการพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือรวมเข้ากับกลไกอื่น ๆ รวมทั้งกลยุทธ์ ISO 2030 (ISO Strategy 2030) ด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 (ค.ศ.1992) ได้มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “Earth Summit 1992” และนำไปสู่ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ รวมทั้งอนุสัญญาที่เป็นรากฐานของกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอันเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมในครั้งนั้นคือ อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (The United Nations Framework Convention on Climate Changeหรือ UNFCCC)

ในปี 2539 (ค.ศ.1996) ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐาน ISO 14001 version 1996 (มีที่มาจากมาตรฐาน BS 7750 version 1992) ต่อมา ได้ปรับปรุงเป็น version 2015 (ISO 14001, Environmental management systems – Requirements with guidance for use) มาตรฐานฉบับนี้ทำให้องค์กรสามารถปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจภายในและเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงงานที่มองเห็นได้ชัด และลดความไม่แน่นอนด้านสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงภายในดังกล่าวสามารถนำไปสู่การ

ลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวัสดุ ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดการเศษวัสดุ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมสีเขียวด้วย  ซึ่งในการเริ่มต้นการจัดการสิ่งแวดล้อม อาจจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากความจำเป็นในการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบใหม่ แต่ต้นทุนขั้นสุดท้ายขององค์กรสามารถลดลงได้เนื่องจากการลดขั้นตอนและเวลาที่ใช้ในกระบวนการภายใน ส่งผลต่อการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ดีสำหรับองค์กร และเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายระดับโลกที่อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนได้

แม้ว่า SDGs จะกำหนดเป้าหมายไว้ในปี 2573 (ค.ศ.2030) และประเทศต่าง ๆ มีการจัดลำดับความสำคัญอย่างสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ แต่ก็ต้องใช้ความพยายามร่วมกันเพื่อทำให้วิสัยทัศน์นั้นเป็นจริง  และการพัฒนามาตรฐานเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

สำหรับการพัฒนามาตรฐานสากลของไอเอสโอมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้เป็นโลกที่ยั่งยืน การรวมเอาประเด็นด้านความยั่งยืนไว้ในมาตรฐานสากลหมายความว่าประเด็นเหล่านี้ได้รับการกล่าวถึงในแกนหลักของมาตรฐาน

จากเรื่องของความยั่งยืนในระดับแนวหน้าของวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 หรือ 2030 Agenda ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกสนับสนุนให้พิจารณาวาระนี้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนามาตรฐาน ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบในระดับโลกในประเด็นความยั่งยืนที่มีความสำคัญที่สุด และไอเอสโอได้ให้ความสำคัญโดยนำวาระเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นมาตรฐาน ISO Guide 82, Guidelines for addressing sustainability in standards  การเพิ่มคุณค่าให้กับสังคมเช่นนี้จะช่วยสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นสำหรับคนทั่วโลก และส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา:

  1. https://bit.ly/42j9v19
  2. https://so05.tci-thaijo.org