จัดซื้อให้ยั่งยืนอย่างไรในระยะยาว

sustainable-procurement

MASCI Innoversity เคยนำเสนอเรื่อง “มาตรฐานการจัดซื้ออย่างยั่งยืน” เมื่อเร็วๆ นี้มาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ผู้จัดซื้อจำนวนไม่น้อยยังคงเผชิญปัญหากับ “การจัดซื้ออย่างยั่งยืน” แม้ว่าผู้บริหารจะประกาศนโยบายให้มีการจัดซื้อจากซัพพลายเออร์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนและใช้แนวทางตามมาตรฐาน ISO 20400 แล้วก็ตาม แต่ผู้จัดซื้อก็ยังพบว่ามีความยากลำบากในการหาซัพพลายเออร์ดังกล่าว

ซัพพลายเออร์บางรายมีพันธสัญญาในการปกป้องสิ่งแวดล้อม บางรายก็มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีเลิศสำหรับพนักงาน และรายอื่นๆ ก็เสนอราคาต่ำ แต่ทั้งหมดก็อาจจะไม่สามารถตอบสนองข้อกำหนดขั้นต่ำทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ และผู้จัดซื้อก็มีหน้าที่ต้องซื้อหาสินค้าหรือบริการที่บริษัทจำเป็นต้องใช้ต่อไป

อันที่จริงแล้ว ความสามารถในการดำเนินงานอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการคิดและการปฏิบัติที่ก้าวไปไกลกว่าการคิดเพียงแค่ภายในบริษัทของตนเอง และต้องใช้เวลาในการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งต้องมีกลยุทธ์ในระยะยาวและมีความเข้มแข็ง รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจะต้องให้ความใส่ใจในเรื่องของความยั่งยืนด้วย

วารสาร Sloan Management Review ได้นำเสนอแนวทางของการจัดซื้ออย่างยั่งยืนในโลกของความเป็นจริงเอาไว้ว่าการจัดซื้อต้องเริ่มต้นด้วยการรับรู้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัท ความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืนมักจะอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า “win-win” ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเชื่อว่าเราสามารถทำให้ต้นทุนต่ำได้แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลงและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย เป็นต้น

สิ่งนั้นคือเป้าหมายที่เป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติ บ่อยครั้งมักมีความขัดแย้งระหว่างวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราอาจจะต้องการประนีประนอมในเรื่องหนึ่งเพื่อให้ได้ประโยชน์ในอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนี้เป็นจริงได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น รองเท้าไนกี้ได้ออกรองเท้ารุ่นไนกี้ฟลายนิตซึ่งไม่ได้ทำการตัดเย็บเหมือนรองเท้าทั่วไป แต่เป็นการถักทอจากเส้นด้ายเดี่ยว ด้วยเทคโนโลยีการถักทอเช่นนี้หมายถึงการใช้วัสดุที่ลดลง ของเสียที่ลดลง  จึงเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมไปกับการลดค่าใช้จ่ายอันเป็นผลดีในเชิงเศรษฐกิจด้วย แต่ถ้าเทคโนโลยีนี้นำไปสู่การขายรองเท้าในปริมาณมากขึ้นและไปถึงจุดที่ว่ารองเท้าไม่ได้มีการนำไปรีไซเคิลล่ะ ผลกระทบต่อโลกอาจเป็นผลเสียในระยาวมากกว่า เป็นต้น ซึ่งยังมีคำถามต่อไปว่าอะไรคือวัสดุที่เหมาะสมกับรองเท้าฟลายนิต โมเดลรองเท้าในอนาคตเป็นอย่างไร และอะไรคือกระบวนการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว

บริษัทส่วนใหญ่มักจะมีความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ชนิดที่เรียกว่าไม่สามารถทิ้งกันได้ ในบางกรณี ทางเลือกที่จะเลือกซัพพลายเออร์รายอื่นอาจจะไม่มีอยู่จริง ดังนั้น จึงอาจจะไม่มีทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเลย และบริษัทก็มีความต้องการไปถึงจุดที่ว่าไม่จำเป็นต้องเลือกวัตถุประสงค์ด้านหนึ่งเพื่อทดแทนกับวัตถุประสงค์อีกด้านหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจทำได้ง่าย

วารสาร Sloan Management Review จึงได้นำเสนอวิธีการที่บริษัทระดับโลกจัดการในเรื่องการจัดซื้ออย่างยั่งยืนดังต่อไปนี้

  1. พัฒนาการจัดลำดับของการยอมเลือกสิ่งหนึ่งเพื่อทดแทนอีกสิ่งหนึ่ง ถ้าเรายอมรับว่าการเลือกแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ (เทรดออฟ) เราต้องตัดสินใจอย่างเป็นระบบในการระบุและประเมินการจัดลำดับของสิ่งนั้น ซึ่งจะบังคับให้เราต้องบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่เราให้คุณค่ามากที่สุด เช่น การตัดสินใจที่จะนำเอาเหตุผลหลักด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ซึ่งต้องการให้เกณฑ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่เหนือกว่าด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะทำได้ยาก แต่มันจะช่วยให้ขับเคลื่อนไปสู่ความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืนในระยะยาว  ซึ่งการเทรดออฟเป็นทางเลือกที่ทำได้ไม่ง่ายนัก
  2. เน้นถึงวิธีการจัดซื้อในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยน การเน้นในโครงการจัดซื้ออย่างยั่งยืนด้วยความชัดเจนจะทำให้เกิดการจัดหาซัพพลายเออร์ที่มีความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าจะมีความจำเป็นต้องเน้นไปในระยะยาว เราจะต้องปักธงนำให้รู้ว่าองค์กรของเราจะทำอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา การนำไปสู่เป้าหมายระยะกลางจะทำให้รู้ว่าเราจะทำได้ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่นี่คือวิธีการ ไม่ใช่เป้าหมาย การจัดซื้ออย่างยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของความพยายามของซัพพลายเออร์ แต่เป็นเรื่องของการเน้นด้านสมรรถนะ
  3. สร้างสมรรถนะของซัพพลายเออร์ การจัดซื้ออย่างยั่งยืนไม่ใช่เป็นเรื่องของการบอกซัพพลายเออร์ว่าพวกเขาขาดอะไร แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทหรือองค์กรของเราควรช่วยให้ซัพพลายเออร์หลักสร้างความเข้มแข็งในสมรรถนะด้านความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน การร่วมมือระหว่างกันเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างมากในเรื่องที่ไม่ได้สร้างการแข่งขันที่แตกต่างกันและในเรื่องที่บริษัทของเราเองก็ไม่สามารถทำได้ตามลำพัง
    เช่น หลายบริษัทที่ซื้อของจากซัพพลายเออร์รายหนึ่งอาจร่วมมือกันให้ข้อมูลเพื่อทำให้ซัพพลายเออร์นั้นทำงานมีประสิทธิภาพกับผู้ซื้อเหล่านี้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น  Electronic Industry Citizenship Coalition ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2547 (ค.ศ.2004) โดยการรวมตัวกันของกลุ่มบริษัทเล็กๆ ด้านอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมในด้านความยั่งยืนในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  1. อย่าปล่อยให้มีความสบายใจจนเกินไปหรืออย่าหยุดพอใจในสมรรถนะที่เรามีอยู่ การมองหาซัพพลายเออร์จากผู้นำอุตสาหกรรมที่เป็นที่ยอมรับอาจไม่ใช่วิธีการที่มีความยั่งยืนเท่าใดนัก เราอาจจะเป็นองค์กรที่ดีที่สุดท่ามกลางองค์กรที่แย่ๆ อีกหลายแห่ง จงอย่าพอใจกับสมรรถนะในระดับที่ยอมรับได้เท่านั้น  ในระยะยาวแล้ว ขอให้ยึดเป้าหมายที่กำหนดไว้และมองหาวิธีการที่ดีกว่าในการทำให้บรรลุเป้าหมายแม้ว่าการจัดซื้ออย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยากในการทำให้ประสบความสำเร็จ

สุดท้ายแล้วความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืนจำเป็นที่บริษัทของเราและซัพพลายเชนจะต้องสร้างเกณฑ์พื้นฐานโดยมีทางเลือกแบบ win-win และ
จะต้องมีการพัฒนาภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งอย่าลืมจัดลำดับความสำคัญ และโฟกัสไปที่สิ่งที่เร่งด่วนจริงๆ  ขอให้จำไว้ว้าเราไม่จำเป็นต้องเน้นในทุกเรื่องในครั้งเดียวกัน เราจำเป็นต้องมีการปรับปรุงในการจัดซื้อในเรื่องที่เราสามารถทำได้ และแม้ว่าเราจะทำได้ดีขึ้นแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเราได้บรรลุถึงความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืนแล้ว

ด้วยการนำนโยบายการจัดซื้อย่างยั่งยืนไปใช้ บริษัทของเราก็จะก้าวไปอีกขึ้นหนึ่ง เราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถสร้างบริษัทที่ยั่งยืนได้ถ้าไม่มีซัพพลายเออร์ที่มีความยั่งยืน แต่ขอให้มั่นใจว่าทุกคนเข้าใจว่าเรากำลังเดินทางไปในระยะยาว และไม่มีวิธีการเริ่มต้นใดๆ ที่จะมีความสมบูรณ์แบบ สิ่งสำคัญคือเมื่อเราก้าวไปเราต้องมีการปรับปรุงทุกเมื่อที่เราสามารถทำได้และขอให้รักษามันไว้ให้ดี และนี่คือวิธีการจัดซื้ออย่างยั่งยืนในระยะยาวที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกองค์กร

ที่มา:

  1. http://sloanreview.mit.edu/article/sustainable-procurement-requires-perseverance/
  2. https://www.cips.org/Documents/Resources/Knowledge%20Summary/Sustainable%20Procurement.pdf