MASCI ร่วมกับ PITH + NIDA ศึกษาต้นแบบจัดการขยะชุมชนเอื้ออาทรระยองวังหว้า พร้อมขยายผลในโครงการแม่โขง-ล้านช้าง

banner-wangwa

นายธีรกุล บุญยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) นำทีมผู้บริหารและบุคลากร MASCI ผู้บริหารและบุคลากรสถาบันพลาสติก (PITH) และนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เข้าศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะ ณ หมู่บ้านเอื้ออาทรระยองวังหว้า ชุมชนต้นแบบระดับประเทศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 โดยมีนายสายัณห์ รุ่งเรือง ผู้นำชุมชนให้การต้อนรับ

การจัดการขยะของหมู่บ้านเอื้ออาทรระยองวังหว้า เป็นแบบอย่างด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ดำเนินการโดยผู้นำชุมชนร่วมกับชาวบ้าน ร้านค้า และโรงเรียนในชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณจากภาครัฐ การจัดการขยะเริ่มตั้งแต่การตกลงไม่ใช้กล่องโฟมภายในชุมชน มีการกำหนดให้ชุมชนแยกขยะเป็น 4 ประเภท คือ 1. ขยะทั่วไปที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และไม่เป็นพิษ  2. ขยะรีไซเคิล 3. ขยะอันตราย และ
4. ขยะอินทรีย์ ซึ่งในส่วนของขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก แก้ว ถุง ชาวบ้านในชุมชนจะรวบรวมและนำไปขายโดยคำนวณเป็นมูลค่า และตอบแทนเป็นสินค้าอุปโภค บริโภคในราคาต้นทุนให้แก่ชาวบ้าน  จากนั้นจะนำขยะที่รับซื้อจากชาวบ้านไปขายต่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป

wangwa-pic2

สำหรับการจัดการขยะในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะแล้ว ยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายขยะ เกิดการจ้างงานคนพิการ ผู้สูงอายุ ในการคัดแยกและจัดการขยะให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมก่อนส่งให้โรงงาน  รวมทั้งชุมชนได้มีการนำขยะจากขวดพลาสติกไปทำการหลอม ผลิตเป็นเส้นหวายเทียม และนำไปผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น กระเป๋า ตระกร้าสาน เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน  นอกจากนี้ ขยะบางส่วนยังนำไปหลอมและผสมกับวัสดุประเภทปูน ทราย เพื่อทำอิฐบล็อคอีกด้วย ส่วนขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร มีการนำไปเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ทำน้ำหมักชีวภาพให้ชุมชนใช้ฟรี และทำปุ๋ยอินทรีย์ และนำไปใช้ทั้งภายในชุมชน และนำไปขายเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย ซึ่งการจัดการขยะของชุมชนเอื้ออาทรระยองวังหว้าที่มีความเข้มแข็งและโดดเด่นเช่นนี้ ทำให้ชุมชนได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบระดับประเทศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2563

wangwa-pic1

ผลจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ทีม MASCI, PITH และ NIDA จะนำไปประยุกต์ใช้ในคู่มือการปฏิบัติ (Guideline Handbook) ด้านการทวนสอบผลิตภัณฑ์พลาสติก CE ในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อใช้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศลุ่มน้ำโขง ภายใต้โครงการ “เสริมสร้างสมรรถนะด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง: การทวนสอบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน (Circular Economy Capability Building in the Lancang-Mekong Region: Product Verification of Plastics Packaging in Supply Chains)” ต่อไป

ติดต่อสอบถามบริการ

💻Website: www.masci.or.th
📱Facebook : https://www.facebook.com/MASCIThailand
📲Line ID: @mascithailand
✉️Mail: salemasci@masci.or.th
☎️Tel: 02-6171727-36