พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสกับ Net Zero

Net-Zero-–-Turning-Crisis-into-Opportunity

คลื่นลูกใหม่ที่จะกำหนดกติกาทางการค้าของโลกในระยะอันใกล้นี้ คือ การบรรลุข้อตกลงจะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 ซึ่งทั่วโลกกำลังร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นั่นเอง

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือปัญหาระดับโลกที่มีการกล่าวถึงผลกระทบในด้านต่างๆ มานานหลายปี นอกจากการแก้ปัญหานี้ในระดับบุคคลด้วยการลดใช้ทรัพยากร หรือหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว สิ่งสำคัญคือองค์กรขนาดใหญ่ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ภาคเกษตรกรรม ต่างก็มีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบดังกล่าว ดังนั้น ทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนการทำงาน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด

Net Zero เป็นการสร้างสมดุลให้สภาพภูมิอากาศของโลกด้วยการ “จำกัด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับการ “กำจัด” ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศไปแล้ว  โดยต้องหาวิธีลดและป้องกันไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับการหาวิธีบรรเทาความเสียหายในอดีตจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ Net Zero ไม่ใช่การห้ามปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษต่างๆ แบบ 100% ธุรกิจบางอย่างที่จำเป็นยังคงปล่อยมลพิษบางส่วนได้ ตราบใดที่สามารถชดเชยด้วยกระบวนการที่ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้ เช่น การปลูกป่า หรือเทคโนโลยีการดักจับมลพิษในอากาศโดยตรง เพราะยิ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากเท่าไร ก็ยิ่งต้องกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศให้ได้มากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหม่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับจากนี้จะต้องมีปริมาณต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ Net Zero อย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้อง ลด-ละ-เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เพื่อเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เร็วที่สุด

กลุ่มธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจสาธารณูปโภคไฟฟ้า ธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็ก ธุรกิจปูนซีเมนต์ ธุรกิจยานพาหนะและการขนส่ง ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ  ต่างก็ได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เป้าหมาย Net Zero เป็นจริง

แม้ว่าธุรกิจเหล่านี้ จะถูกจับตามองว่าเป็นภาคส่วนที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจเหล่านี้ยังคงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และต้องการพันธมิตรที่มีประสบการณ์เพื่อช่วยสนับสนุนให้พวกเขาเริ่มต้นวางแผนเส้นทางสู่การกำจัดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จ

ในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ เริ่มเข้าใจแล้วว่าการลดคาร์บอนในธุรกิจของตนเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าที่นักลงทุนและผู้บริโภคคาดหวัง ซึ่งบริษัทระดับโลกต่างๆ จะใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้า ถ้าเราทำได้ตามเป้าหมายวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ ก็จะกลายเป็นโอกาสในการคัดเลือกเป็นคู่ค้าของกลุ่มธุรกิจนั้น และถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องเร่งปรับตัว ด้วยเหตุนี้ Net Zero จึงเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจแตกต่างเหนือคู่แข่ง มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจและได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวย่อมมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและผู้บริโภค

วิกฤตสภาพภูมิอากาศทุกวันนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่มีเวลาให้รอคอยอีกต่อไปแล้ว….มาร่วมกันพลิกวิกฤตเป็นโอกาสแล้วขับเคลื่อนให้ธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนด้วย Net Zero

ที่มา:

  1. https://www.iso.org/contents/news/2022/05/our-fight-for-a-living-planet.html
  2. https://www.eco-business.com/opinion/net-zero-must-mean-business/
  3. https://www.eco-business.com/opinion/rays-of-hope-in-the-climate-struggle/
  4. https://www.thansettakij.com/economy/525359