มาตรฐานสากลที่ส่งเสริมผู้สูงวัยใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ตอนที่ 1

New-Standards-for--Aging--Societies-1

ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังมีประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมา หลายประเทศได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี และฟินแลนด์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประชากรโลกที่มีอายุเกิน 65 ปีจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) ส่วนเด็กอายุไม่เกิน 5 ปีจะมีจำนวนมากกว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยที่พบว่าเป็นไปได้ที่คนเราสามารถมีอายุยืนยาวได้ราว 150 ปี และนับจนถึงปัจจุบัน บุคคลที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 122 คน และในญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวมีผู้อายุครบรอบ 100 ปีมากกว่า 44,000 คนเมื่อปี 2553 (ค.ศ.2010)

เคยมีคนกล่าวว่าอายุยืนเป็นพรอย่างหนึ่งซึ่งหลายคนไม่อยากได้ เพราะไม่แน่ใจว่าหากมีอายุยืนขนาดนั้นแล้วจะยังมีความสุขดีอยู่หรือไม่ แต่เชื่อหรือไม่ว่าผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตตามปกติอย่างมีความสุขได้ หลายประเทศเป็นตัวอย่างที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ แต่ในหลาย ๆ ประเทศ มีความท้าทายในการก้าวข้ามอุปสรรคด้านความสามารถในการใช้ชีวิตและการมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งไอเอสโอได้เข้ามาเติมเต็มความปรารถนาของผู้คนในส่วนนี้แล้วด้วยการพัฒนามาตรฐานที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมที่ผู้สูงวัยทั่วโลกสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมายร่วมกับลูกหลานและคนในสังคม

บ่อยครั้ง ผู้สูงวัยมักถูกมองว่ามีค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงเกินไปในการใช้ชีวิต และสังคมก็ไม่ได้ใช้โอกาสในการผสานเอาภูมิปัญญาที่พวกเขาเหล่านั้นมีอยู่จากการผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวมาอย่างยาวนานแล้วส่งผ่านไปยังคนรุ่นต่อไปได้  และยังถูกมองว่าเป็นพวกต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ชอบเทคโนโลยี ทั้งที่ความจริงแล้ว ความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงวัยคือสิ่งที่มีคุณค่ามากและเป็นประโยชน์ต่อสังคม  นอกจากนี้ บางครั้งยังถูกมองข้ามว่าเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงมากด้วย

เพื่อความเท่าเทียมกันของคนทุกวัย

การต่อสู้ในยุคที่มีสังคมสูงวัยมากขึ้นทั่วโลกมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสร้างโลกที่เท่าเทียมกันมากขึ้น สิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีอายุเท่าใด จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องต่อผู้สูงวัยจำเป็นต้องได้รับการเยียวยา ด้วยเหตุนี้เอง ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานพร้อมแนวทางแก้ไขเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC314, Aging Societies  ซึ่งแร ดูลมาจ หนึ่งในผู้ประสานงานร่วมของคณะกรรมการวิชาการนี้ เชื่อมั่นว่าระบบสุขภาพและการดูแลระยะยาวจะต้องสอดคล้องกันเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมสูงอายุได้

เขากล่าวว่าการมุ่งเน้นที่ความสามารถที่แท้จริงของผู้สูงอายุและรักษาผลประโยชน์สูงสุดของพวกเขาไว้เป็นหัวใจสำคัญ เราสามารถให้การดูแลที่ดีที่สุดแก่ผู้สูงวัยซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง เรื่องส่วนตัวที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งของเขาคือ เขาได้เริ่มออกกำลังกายแบบเข้มข้นซึ่งผสมผสานกันระหว่างยิมนาสติก แอโรบิก และเวทเทรนนิ่งที่เรียกว่า CrossFit ในตอนที่มีอายุ 66 ปีด้วย

สำหรับการทำงานของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 314 ต้องการให้ชุมชนมารวมตัวกันในประเด็นด้านสุขภาพ การประกันสังคม การเข้าถึงได้ และทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนจากผู้อาวุโสของเราซึ่งสามารถมอบให้พวกเราได้  และเราจำเป็นต้องมีระบบที่ตระหนักถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมต่างๆ และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพด้วย

แร ดูลมาจ กล่าวเสริมว่า ด้วยเหตุนี้ ความพยายามของคณะกรรมการวิชาการฯ จึงมุ่งเน้นไปที่ความกลมเกลียวกันในสังคม ซึ่งรวมถึงการรวมกลุ่มและการไม่เลือกปฏิบัติ ผลลัพธ์ที่ได้คือ มาตรฐานที่คณะกรรมการวิชาการพัฒนาขึ้นมาซึ่งจะช่วยให้ชุมชนพูดภาษาเดียวกับประชากรสูงอายุของเรา เพื่อให้เราทุกคนสามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับความต้องการของผู้สูงวัย และคนทุกวัยสามารถอยู่ร่วมกันได้

แนวโน้มของการสูงวัยประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเราสามารถเห็นพนักงานทั้ง 5 ชั่วอายุคนได้ในที่ทำงานหลายแห่ง ซึ่งดร.มาร์ติน ไฮด์ รองศาสตราจารย์ด้านศาสตร์เกี่ยวกับการสูงวัย (Gerontology) แห่งมหาวิทยาลัยสวอนซี ประเทศอังกฤษ ได้กล่าวว่า คนทำงานที่มีอายุมากมีแนวโน้มไม่มากนักที่จะก้าวไปข้างหน้าจากการฝึกอบรมขององค์กร  พวกเขาไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรเหล่านั้นด้วยข้อสมมติฐานที่ว่าพวกเขากระตือรือร้นน้อยกว่าหรือสามารถเรียนรู้ได้ช้ากว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีหากมีคนคิดแบบนั้น  แต่จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีกถ้าพวกเขาเริ่มเชื่อเรื่องนี้อย่างจริงจังจนทำให้ความเชื่อนั้นกลายเป็นความจริง ซึ่งหมายความว่าผู้สูงวัยถูกกีดกันไม่ให้ทำงานหรือใช้วิชาความรู้และประสบการณ์ของตนเองได้อย่างเต็มที่

ดร.มาร์ติน ไฮด์ กล่าวต่อไปว่าเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของคนทุกรุ่น นายจ้างและรัฐบาลต้องยอมรับและให้โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีอายุมากกว่าซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถใช้มาตรฐาน ISO 25550, Ageing Societies – General requirements and guidelines for an age-inclusive workforce เพื่อรักษาความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและรับรองว่าพนักงานของตนครอบคลุมคนทุกช่วงวัย  และเราต้องตระหนักถึงคุณค่าของประชากรสูงอายุโดยฟังเสียงสะท้อนของพวกเขาในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งต้องรวมหลักการเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน

ผู้ปฏิบัติงานที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีบทบาทมากในสังคมสูงวัยก็คือผู้ที่ดูแลผู้สูงวัยนั่นเอง  ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานสำหรับองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงวัยหรือผู้ใหญ่ที่มีอาการเรื้อรังจากโรคภัยหรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา (รวมไปถึงผู้ที่อยู่ในความดูแลของผู้สูงอายุด้วย) รวมถึงผู้ที่รับการดูแลเด็กในระยะยาวในทำนองเดียวกับผู้ใหญ่ (เด็กที่มีภาวะโรคเรื้อรัง บกพร่องทางประสาทสัมผัส หรือบกพร่องทางร่างกาย) ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในบทความครั้งต่อไปค่ะ

ที่มา:

  1. https://www.iso.org/news/society-for-all-ages.html
  2. https://www.bangkokbiznews.com/social/980466