มาตรฐานสากลที่ส่งเสริมผู้สูงวัยใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ตอนที่ 2

New-Standards-for--Aging--Societies-2

บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “มาตรฐานสากลที่ส่งเสริมผู้สูงวัยใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงสังคมโลกที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศซึ่งมีการให้ความสำคัญกับสังคมสูงวัย และทำให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความหมายร่วมกับลูกหลานและคนในสังคมได้ โดยไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐาน ISO 25550, Ageing Societies – General requirements and guidelines for an age-inclusive workforce ขึ้นมา เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ นำไปใช้เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของคนทุกรุ่นทุกวัย สำหรับบทความในครั้งนี้จะกล่าวถึงการพัฒนามาตรฐานของไอเอสโอสำหรับองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงวัยหรือผู้ใหญ่ (รวมถึงผู้ดูแลเด็ก) ที่มีอาการเรื้อรังจากโรคภัย และมาตรฐานที่เป็นกรอบการทำงานสำหรับชุมชนที่มีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ดังต่อไปนี้

แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลา ทุกคนก็ต้องก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยเช่นกัน  และในการอยู่ร่วมกับสังคมสูงวัย  เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญและดูแลผู้สูงอายุซึ่งเราทุกคนมีบทบาทในการสนับสนุนผู้สูงอายุตามที่พวกเขาต้องการและสมควรจะได้รับ ผู้สูงอายุสามารถมีส่วนร่วมในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต่างๆ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย ต้องทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมประโยชน์จากการอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยในสังคม

ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังดำเนินการดูแลระบบการดูแลสุขภาพเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการดูแลระยะยาวที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และแม้ว่าสิ่งสำคัญคือจะต้องมั่นใจในการเข้าถึงการป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูอย่างเท่าเทียมกันในทุกช่วงวัยของชีวิต แต่การดูแลผู้ดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของมาตรฐาน ISO 25551, Ageing societies — General requirements and guidelines for carer-inclusive organizations ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ดูแลที่ทำงานในชุมชนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการจ้างงานกับความรับผิดชอบในการดูแลผู้สูงวัยรวมทั้งการดูแลเด็กในระยะยาวอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยเรื้อรังด้วย

มาตรฐาน ISO 25551 จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ดูแลผู้ป่วยซึ่งทำให้องค์กรช่วยรักษาพนักงานที่มีทักษะเอาไว้ได้ สามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน และทำให้พนักงานมีส่วนร่วมมากขึ้น

ไอเอสโอตระหนักดีว่านอกจากผู้สูงวัยจะต้องการมีสุขภาพดีแล้ว พวกเขาควรจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่า “การไม่มีโรค” ซึ่งหมายความว่าจำเป็นต้องรักษาความสามารถในการทำงานได้ตลอดอายุขัยด้วย ลองนึกภาพดูว่าสังคมจะเป็นอย่างไร หากมีผู้สูงวัยที่ประสบปัญหาภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นจำนวนมากและชุมชนขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อสังคม  ดังนั้น ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐาน ISO 25552, Ageing societies – Framework for dementia-inclusive communities โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่รวมถึงภาวะสมองเสื่อมเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเป็นพลเมืองที่เป็นอิสระหรือไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น  รู้สึกปลอดภัยและสบายใจพอที่จะเพิ่มความสามารถและมีส่วนร่วมในชุมชนของตนได้สูงสุด

มาตรฐาน ISO 25552 จะช่วยให้มีการปรับปรุงคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมในชุมชน ช่วยพัฒนาบริการที่มีคุณภาพสำหรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม  เพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนาชุมชนที่มีผู้เป็นโรคสมองเสื่อมสร้างโอกาสใหม่สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในชุมชนที่มีผู้เป็นโรคสมองเสื่อม รวมทั้งชุมชนได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนในเรื่องราวต่าง ๆ จากทุกคนรวมทั้งผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมด้วย

สิ่งที่ไอเอสโอดำเนินการอยู่นี้ไม่ได้เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงวิกฤตที่เกิดขึ้นกับสังคมสูงวัย แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการคิดเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่มีมาหลายชั่วอายุคนเพื่อสนับสนุนคนทุกรุ่นทุกวัยให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี เมื่อเราทำลายสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่าง ๆ ลงได้แล้ว เราก็จะสามารถเปลี่ยนชุมชนของเราให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตและก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุได้อย่างสง่างาม เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อทั้งตนเอง ชุมชนและสังคมต่อไป

ที่มา:  https://www.iso.org/news/society-for-all-ages.html