มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม (TIS 9999/ มอก.9999)

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งแนวคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้ในทุกระดับและทุกสาขาความชำนาญ ตั้งแต่ระดับองค์กร บริษัท ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงาน โดยการสร้างความสมดุลให้แก่ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาองค์กรธุรกิจที่สร้างสรรค์ทำให้เกิดผลกำไรที่ยั่งยืน และมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน

สาระสำคัญของมาตรฐาน

มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม มอก.9999 เล่ม 1 – 2556 เป็นมาตรฐานแนวทาง (Guideline) เพื่อให้องค์กรภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือการดำเนินธุรกิจแบบทางสายกลางไปใช้ เพื่อให้เกิดความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และมีความสุข ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล รวมทั้งชีวิตครอบครัว ธุรกิจ และชุมชน โดยมีองค์ประกอบสำคัญของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (3 ห่วง 2 เงื่อนไข) ได้แก่ ความรู้ และคุณธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานจิตใจหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ผนวกกับหลักการของระบบการจัดการ และวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Act)

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถขอรับการทวนสอบการดำเนินงานตามมาตรฐาน มอก.9999

มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม  มีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • ใช้เป็นแนวทางเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Transformation) พฤติกรรมของบุคลากรและองค์กร โดยการบูรณาการ (integrate) เข้ากับกระบวนการดำเนินธูรกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเสริมสร้างบุคลากรให้มีพื้นฐานจิตใจอยู่ในระดับพอเพียง
  • ช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงและบุคลากรสามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงานไปช่วยในการปรับปรุงระบบการทำงาน (System) กระบวนการทำงาน (Process) กิจกรรมต่างๆ (Activities) และการดำเนินชีวิต เพื่อให้บรรลุจุดหมาย
  • ช่วยให้องค์กรมีรูปแบบในการบริหารองค์กรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในยุคโลกาภิวัฒน์ และสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเหตุการณ์ในอนาคต ทั้งในด้านการบริหารอนาคต (Foresight) การแบ่งปันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล (Insight) การบริหารกลยุทธ์เพื่อความพอเพียงและความยั่งยืน (Strategy Management for Sufficiency and Sustainability) การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อให้เกิดความสมดุลและความมั่นคงในการดำรงชีวิต (Life Balance)
  • ช่วยให้บุคลากรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความสุขที่แท้จริงในตน โดยมีองค์กรสนับสนุน เกื้อกูล และแบ่งปันปัจจัยและทรัพยากรที่จำเป็น