มาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000)

ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งของธุรกิจและองค์กร คือ การดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานได้พัฒนามาตรฐาน ISO 26000 ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการประเมินความมุ่งมั่นขององค์กรในด้านความยั่งยืนและประสิทธิภาพโดยรวม สามารถก้าวไปไปไกลกว่าการปฏิบัติตามกฎหมายขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

สาระสำคัญของมาตรฐาน

มาตรฐาน ISO 26000 (Guidance on social responsibility)  เป็นมาตรฐานที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่มีความโปร่งใสซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยให้แนวทางที่ทำให้เข้าใจถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ธุรกิจและองค์กรสามารถแปลงหลักการไปสู่การดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้แนวคิด ข้อกำหนด และคำจำกัดความที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งความเป็นมา แนวโน้ม และลักษณะของความรับผิดชอบต่อสังคม หลักการและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม หัวข้อหลักและประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม บูรณาการ ดำเนินการ และส่งเสริมพฤติกรรมรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กรด้วยนโยบายและแนวปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังมีการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการมีส่วนร่วม ความมุ่งมั่นในการสื่อสาร และการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ในการนำมาตรฐาน ISO 26000  ไปใช้ องค์กรจำเป็นต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางสังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย วัฒนธรรม การเมือง และองค์กร ตลอดจนความแตกต่างของสภาพเศรษฐกิจอย่างสอดคล้องกับบรรทัดฐานของพฤติกรรมในระดับสากล

ผู้สนใจสามารถขอรับการทวนสอบการดำเนินงานตามมาตรฐาน ISO 26000

The Principles of Social Responsibility

SA 1: ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ (Accountability)

SA 2: ความโปร่งใส (Transparency)

SA 3: การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical Behavior)

SA 4: การคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Respect for Stakeholders interests)

SA 5: การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for the Rule of Law)

SA 6: การเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล (Respect for International Norms of Behavior)

SA 7: การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Right)

มาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม มีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • สร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจให้กับการดำเนินกิจการของธุรกิจ/องค์กร
  • สร้างความมั่นใจด้านการจัดการความเสี่ยงให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร
  • ทำให้ธุรกิจ/องค์กรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักลงทุนและองค์กรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น
  • ช่วยให้องค์กรก้าวไปสู่การพัฒนาและการเติบโตอย่างยั่งยืน
  • ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน ความน่าเชื่อถือ และความเป็นธรรม
  • สร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมให้กับพนักงาน รวมทั้งความพึงพอใจของลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย