มาตรฐานระบบการจัดการองค์ความรู้ (ISO 30401)

องค์ความรู้เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ายิ่ง และเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจและองค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิผล

ISO 30401 เป็นมาตรฐานที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรที่ดำเนินการจัดการความรู้และต้องการให้การจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร โดยอาศัยเครื่องมือการจัดการความรู้ และเป็นพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบรับรองประเมินผลและรับรององค์กรที่มีความสามารถด้านการจัดการความรู้โดยผ่านหน่วยงานตรวจสอบภายในและหน่วยงานภายนอกที่เป็นที่ยอมรับ

หลักการระบบการจัดการความรู้ตามมาตรฐาน ISO 30401  มีหลักการ 8 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. ธรรมชาติของความรู้ คือ ความรู้ไม่สามารถจับต้องได้และมีความซับซ้อน ความรู้สร้างได้โดยคน
  2. คุณค่าของความรู้ คือ  ความรู้เป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีมูลค่าสำหรับองค์กรเพื่อให้องค์กรบรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์กร
  3. การมุ่งเน้น คือ การจัดการความรู้ตอบสนองเป้าหมาย กลยุทธ์ และความต้องการขององค์กร
  4. การปรับใช้ คือ ไม่มีวิธีการจัดการความรู้ใดที่เหมาะสมกับทุกองค์กร วิธีการจัดการความรู้ขึ้นอยู่กับบริบทองค์กร
  5. ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน คือ การจัดการความรู้ควรมีการปฏิสัมพันธ์ร่วม ระหว่างคน การใช้เนื้อหา กระบวนการและเทคโนโลยี
  6. สภาพแวดล้อม คือ ความรู้ไม่ได้รับการจัดการโดยตรง แต่การจัดการความรู้จะต้องไปมุ่งเน้นการจัดการสภาพแวดล้อมการทำงาน และการดูแลวงจรชีวิตของความรู้
  7. วัฒนธรรมองค์กร คือ วัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อประสิทธิภาพการจัดการความรู้เป็นอย่างมาก วัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การคิด การแสดงความเห็น และการทำงาน จะส่งผลต่อการจัดการความรู้โดยตรง
  8. จุดเน้นย้ำ คือ การจัดการความรู้ควรต้องค่อยๆ ทำทีละช่วง แบ่งการดำเนินงานเป็นระยะหรือเฟส ให้สอดคล้องกับระบบการเรียนรู้ขององค์กร

มาตรฐานระบบการจัดการองค์ความรู้  มีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • ทำให้การจัดการองค์ความรู้ขององค์กร เป็นรูปธรรมมากขึ้น และมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น
  • มีกระบวนการจัดการความรู้ที่ครอบคลุมกระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การสื่อสาร (Communication) การประสานความร่วมมือ (Collaboration) การเรียนรู้ (Learning) องค์ความรู้ (Knowledge) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และนวัตกรรม (Innovation)
  • นำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ด้านการจัดการความรู้ให้สอดคล้องกับบริบทขององค์กรและกลยุทธ์องค์กร
  • มีระบบการจัดการความรู้ที่สามารถนำไปสนับสนุนและทำให้เกิดการสร้างคุณค่าโดยใช้องค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิผล
  • ทำให้ระบบการจัดการองค์ความรู้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือทีมงานก็ตาม
  • เกิดกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มต่างๆ

มาตรฐานระบบการจัดการองค์ความรู้ (ISO 30401)

  1. แบบฟอร์มข้อมูลเกี่ยวกับการรับรองระบบการจัดการความรู้ Download