ทักษะแรงงานที่ต้องมีสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว

Skills-Towards-Green-Economy

ตามแถลงการณ์ด้านแผนยุทธศาสตร์ปี 2563-2566 (ค.ศ.2020 – 2023) ขององค์การสหประชาชาติ ได้ระบุกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะช่วยให้โลกของเราสามารถเปลี่ยนสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน ผ่านกระบวนทัศน์ใหม่ที่มีความยั่งยืน (Green transition) มีการขับเคลื่อนการพัฒนาและสันติภาพโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก วัตถุประสงค์หลักของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือเพื่อส่งเสริมอนาคตของเมืองที่ยั่งยืน เนื่องจากการเติบโตของเมืองมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เรามาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนข้อเสียให้เป็นโอกาส

ทักษะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว

ในขณะที่โลกยังคงดำเนินต่อไปเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวการ  โลกก็ต้องการคนที่มีทักษะด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แล้วมาตรฐานสามารถช่วยสนับสนุนการปฏิวัติทักษะได้หรือไม่  เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งยังคงมีไม่เพียงพอ

จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะมีการสร้างงานใหม่ประมาณ 24 ล้านตำแหน่งทั่วโลกภายในปี 2573 (ค.ศ. หากมีการวางนโยบายที่เหมาะสมในการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ข้อมูลนี้สอดคล้องกับการเติบโต 8% ต่อปีของการประกาศรับสมัครงานด้านสิ่งแวดล้อมใน LinkedIn ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้มีความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเพียง 6% เท่านั้นในแต่ละปี

งานด้านความยั่งยืน

เมื่อพูดถึงงานด้านความยั่งยืน เราอาจคิดถึงช่างเทคนิคแผงโซลาร์เซลล์หรือวิศวกรกังหันลม แต่อันที่จริงแล้ว ทักษะด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรมและมีหลายรูปแบบ รายงานของ LinkedIn ที่มีชื่อว่า Global Green Jobs Report ได้แยกความแตกต่างระหว่างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

งานสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำได้หากไม่มีทักษะด้านสิ่งแวดล้อม แต่งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีทักษะด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีแนวโน้มที่จะพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ ส่วนงานที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะด้านสิ่งแวดล้อมเลย

แนวโน้มงานสีเขียวยอดนิยม

ทักษะด้านสิ่งแวดล้อมที่เติบโตเร็วที่สุดคือการจัดการระบบนิเวศ นโยบายสิ่งแวดล้อม และการป้องกันมลพิษ แต่นอกเหนือจากการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยความรับผิดชอบแล้ว ทักษะด้านพลังงานสะอาด การเงินที่ยั่งยืน การก่อสร้าง เทคโนโลยี และการวางผังเมืองก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม รายงาน LinkedIn ได้กล่าวถึงงานบางอย่างเช่น ผู้จัดการกองยานพาหนะ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ เป็นตัวอย่างของงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งจะต้องใช้ทักษะด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจสีเขียว ทักษะด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้สงวนไว้เฉพาะสำหรับผู้ที่ทำงานด้านพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่จะมีอยู่ทั่วไปในทุกหนทุกแห่ง ดังนั้น ภาครัฐและองค์กรจำเป็นต้องวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว

เติมเต็มทักษะให้เพียงพอ

มาตรฐานสากลสามารถช่วยลดช่องว่างระหว่างความต้องการแรงงานฝีมือของผู้ว่าจ้างและความต้องการงานของคนที่มีทักษะเหล่านั้น ซึ่งได้รับการยืนยันในงานวิจัยล่าสุดของ LinkedIn ว่าความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ได้รับการระบุว่าเป็น 1 ในทักษะ 10 อันดับแรกที่เพิ่มลงในโปรไฟล์สมาชิก LinkedIn ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เห็นได้ชัดว่ามาตรฐานสากลเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนของตลาดแรงงาน มาตรฐานเป็นช่องทางในการยกระดับทักษะ เช่นเดียวกับกรณีของ ISO 14001 ตลอดจนเป็นรากฐานสำหรับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและความก้าวหน้า ดังนั้น เพื่อเร่งให้เกิดทักษะด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงานมากขึ้น จึงมีการเสนอให้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของมาตรฐานสากลให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยการผสมผสานทักษะสีเขียวเข้ากับการพัฒนางานตั้งแต่เริ่มต้น

การรวมทักษะ “สีเขียว” ไว้ในมาตรฐานไอเอสโอ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการยอมรับในวงกว้างเท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าทักษะใดที่จำเป็นในงานต่างๆ เพื่อให้พนักงานสามารถสำรวจตลาดแรงงานได้อย่างมีจุดมุ่งหมาย

ปัจจุบันนี้ LinkedIn ได้รายงานเมื่อเปรียบเทียบทักษะสีเขียวที่สำคัญที่สุดสำหรับนายจ้างกับทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้สมัครแล้ว พบว่าตรงกันเพียง 50% เท่านั้น แต่มาตรฐานที่ใช้ร่วมกันสามารถช่วยลดช่องว่างระหว่างทักษะที่จำเป็นและทักษะที่มีอยู่ และทำให้การเปลี่ยนแปลงสีเขียวประสบความสำเร็จสำหรับทุกคนได้

อนาคตสีเขียวสำหรับทุกคน

การค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในรายงานของ LinkedIn คือ ยังคงมีช่องว่างที่สำคัญในการพัฒนาบุคลากรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและงานที่มีทักษะด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางภูมิศาสตร์ เพศ ยุคสมัยของกลุ่มคนในช่วงอายุต่างๆ  และระดับการศึกษา ตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีการยกระดับฝีมือแรงงานในอัตราที่ช้ากว่าประเทศที่เจริญกว่า และมีทักษะเฉพาะกลุ่มน้อยกว่า เป็นต้น

สำหรับการลงทุนในทักษะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น นายจ้าง รัฐบาล และแรงงานทั่วโลก จะทำให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้นมีความเป็นธรรมเพื่อทุกคน และไม่ทำให้ใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ในฐานะที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม เราทุกคนต้องมั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านสีเขียวไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น  แต่จะให้ประโยชน์กับคนในสังคมซึ่งมาตรฐานสากลสามารถช่วยลดช่องว่างโดยการสร้างกรอบที่ทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้เป็นอย่างดี

ที่มา : https://www.iso.org/contents/news/2022/12/skills-for-the-green-economy.html