มาตรฐานที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน

Standards-for-Sustainability

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเรื่อง พฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งแนวโน้มความสนใจลงทุนด้านความยั่งยืน (ESG) ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 พบว่าผู้บริโภคตระหนักและมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยินดีจ่ายเงินมากขึ้นไม่เกิน 20% จากราคาปกติเพื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังพิจารณาตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่ดำเนินการด้าน ESG ราว 10-20% ของพอร์ตการลงทุนด้วย

งานวิจัยของรอฟ โฟเทนฮาวอา จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียเมลเบิร์น เรื่อง Socially Responsible Investors: The Rise of ESG ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ยังกล่าวด้วยว่าความสนใจของภาคการเงินในการลงทุนเพื่อสนับสนุน ESG ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเป็นอย่างมาก โดยมีวิกฤตการเงินโลกที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ESG ว่าเมื่อปราศจากการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจแล้ว (หรือทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อ) สามารถส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรได้ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียต้นทุนความยั่งยืนและต้นทุนการใช้ทรัพยากร การสูญเสียความไว้วางใจของลูกค้า ผลกระทบต่อสุขภาพและขวัญและกำลังใจของบุคลากรไปจนถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใด  องค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงประเด็นความยั่งยืน  โดยองค์กรสามารถบูรณาการตามแนวทางด้านความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินกิจการ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ทั่วโลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

หากองค์กรต้องการนำไปใช้ ก็มีมาตรฐานเป็นจำนวนมากที่องค์กรสามารถพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม ตามความต้องการขององค์กรได้  เช่น มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม มอก.9999 มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก.14061-1 มาตรฐานการบริหารการจัดการงานอย่างยั่งยืน ISO 20121 มาตรฐานการจัดซื้ออย่างยั่งยืน ISO 20400 มาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม  ISO 26000 มาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร มตช. 2 เล่ม 2 มาตรฐานการทวนสอบการวัดปริมาณและการรายงานผลการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร ISO 14064-1 มาตรฐานการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก การติดตามตรวจสอบ และการรายงานกิจกรรมในระดับโครงการ ISO 14064-2 เป็นต้น

ผู้บริโภคและภาคการผลิตหรือภาคบริการ สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืนได้ ซึ่งการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ SDG12 (Sustainable Consumption and Production) ซึ่งทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปเพื่อให้โลกของเราสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด

ที่มา:

  1. https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/ESG-consumer-z3337.aspx
  2. https://www.researchgate.net/publication/362323568_Socially_Responsible_Investors_The_Rise_of_ESG