สร้างอนาคตด้วยการจัดซื้ออย่างยั่งยืน

2.-SUSTAINABLE-PROCUREMENT-ENSURES-BETTER-FUTURE

การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็นกระแสนิยมในโลกปัจจุบัน  บริษัทหลายแห่งตั้งเป้าหมายในด้านความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และกำลังก้าวสู่เป้าหมายสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศที่สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยทั่วไป เมื่อนึกถึงเรื่องของความยั่งยืน การจัดซื้ออาจไม่ใช่สิ่งแรกที่เรานึกถึง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ห่วงโซ่อุปทานของบริษัท (หรือองค์กร) มีบทบาทอย่างมากในการพิจารณาว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีความยั่งยืนเพียงใด ตัวอย่างเช่น รายงานด้านความยั่งยืนของแม็คคินซีย์ระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทด้านการบริโภคทั่วไปมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 80 และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 90   นอกจากนั้น อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ยังสามารถติดตามผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อแนวทางการจัดซื้อได้อีกด้วย

การสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในความพยายามด้านความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบมากที่สุดที่บริษัทสามารถลงทุนได้ซึ่งในปี 2565 เป็นช่วงเวลาที่ดีในการเริ่มทำการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากบริษัทต่างๆ ต่างกำลังทำงานเพื่อปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานในขณะที่กำลังรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมองครั้งแรกถึงความพยายามและวางแผนสำหรับการจัดซื้ออย่างยั่งยืนในปี 2565 อาจมีคนคิดว่าพยายามมากเกินไป เพราะมีเรื่องที่ต้องกังวลมากมายเกี่ยวกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน แต่ถ้าเรามุ่งเน้นที่การปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานอยู่แล้ว ตอนนี้ถือว่าเป็นเวลาที่ดีในการเริ่มปรับปรุงเรื่องความยั่งยืน เราไม่จำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนทั้งหมดภายในปีเดียว ถึงแม้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะยังไม่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด แต่ทุกย่างก้าวที่ทำเพื่อความยั่งยืนจะทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นสำหรับบริษัทและสิ่งแวดล้อมของเรา

บริษัท Procurement Tactics ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อได้คาดการณ์ว่าเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่โลกต้องเผชิญกับการระบาดใหญ่ทั่วโลก ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลงชั่วขณะเพื่อหาแนวทางปรับตัว ทำให้ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายในปีหน้าซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนจะสนับสนุนการเติบโตทางการเงินในระยะยาวของบริษัทได้ ในขณะเดียวกันก็ปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องสละความมั่นคงทางการเงินเพื่อหันมาใส่ใจความยั่งยืน แต่สามารถทำทั้งสองอย่างพร้อมๆ กันได้

ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้มีความยั่งยืนมากขึ้นอาจทำให้ต้นทุนระยะสั้นเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะช่วยปรับปรุงผลประกอบการของบริษัท  ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนจะช่วยลดต้นทุน ปรับปรุงชื่อเสียงของบริษัท  และปฏิบัติงานอย่างสอดคล้องกับกฎระเบียบด้านความยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ไม่ว่าบริษัทจะมีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบเพียงใด ต้องไม่ลืมว่า บริษัทอื่นๆ ที่เราทำงานด้วยก็เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของเราซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อความยั่งยืนโดยรวมด้วยเช่นกัน

ดร.เวโรนิกา เอช วิลเลนนา  ผู้เชียวชาญด้านระบบสารสนเทศและซัพพลายเชนพบว่าบริษัทที่มีห่วงโซ่อุปทานที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืนจะใช้วิธีการจัดการแบบลดหลั่นกันไปในรูปแบบนี้ คือ ให้ซัพพลายเออร์ระดับหนึ่งของตนเองปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืนบางประการ และกำหนดให้พวกเขาสร้างความต้องการเดียวกันกับซัพพลายเออร์ของตนเอง แนวทางนี้สามารถช่วยให้บริษัทต่างๆ มั่นใจได้ว่าห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนจะคงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนจะช่วยปรับปรุงการรับรู้ของผู้บริโภคของบริษัท นอกจากนี้ ยังช่วยดึงดูดผู้มีความสามารถมายังบริษัทด้วย  เนื่องจากผู้สมัครงานจำนวนมากให้ความสนใจมากขึ้นที่จะเข้าไปทำงานในบริษัทที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม ทั้งนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) พบว่าโครงการความยั่งยืนสามารถลดต้นทุนได้ 9-16% และช่วยปรับปรุงมูลค่าแบรนด์ 15-30% รวมทั้งเพิ่มรายได้ 5-20% ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ดร.วิลเลนนา ยังชี้ให้เห็นว่าการมองข้ามความสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่บริษัทมักจะทำเมื่อต้องทำงานเพื่อความยั่งยืน การจัดซื้อเกี่ยวข้องโดยตรงกับซัพพลายเออร์ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและพนักงานคนอื่นๆ ในแผนกมีความเชื่อมโยงที่จำเป็นในการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ หากบริษัทของเราต้องการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนมากขึ้น การจัดซื้อต้องเกี่ยวข้องกับการวางแผนและการดำเนินการด้วย

ไม่มีแผนกใดสามารถบรรลุความยั่งยืนได้ด้วยตนเอง การผลักดันเพื่อความยั่งยืนอาจเริ่มต้นจากบุคคลหรือแผนกที่เฉพาะเจาะจง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจึงจะประสบความสำเร็จ ความคิดริเริ่มในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนอาจเริ่มต้นจากผู้บริหารระดับสูง หรือในแผนกจัดซื้อก็ได้ สำหรับผู้บริหารของฝ่ายจัดซื้อที่ดำเนินการเพื่อความยั่งยืนนั้น การวางแผนและการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จะช่วยให้การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนเป็นจริงได้

การจัดซื้ออย่างยั่งยืนยังถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมตามที่ระบุไว้ในแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000, Guidance on Social Responsibility ด้วย โดยใช้หลักการเดียวกันกับประเด็นหลักในเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงานและการปฎิบัติที่เป็นธรรม

สำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างอนาคตด้วยการจัดซื้ออย่างยั่งยืน สามารถศึกษาแนวทางได้จากมาตรฐานแนวทางการจัดซื้ออย่างยั่งยืน ISO 20400, Sustainable procurement – Guidance ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจเรื่องของการจัดซื้ออย่างยั่งยืนและนำไปปรับใช้ในองค์กรได้เป็นอย่างดี และองค์กรยังสามารถส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อนำความรู้ไปจัดทำอย่างเป็นระบบได้เช่นกัน

ที่มา:

  1. https://www.nextprocess.com/procurement-solutions/heres-what-you-should-know-about-sustainable-procurement-in-2022/
  2. https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/store/en/ISO%2020400_Sustainable_procur.pdf