GRI กับการเปิดเผยข้อมูล ESG

Why-GRI-and-ESG-are-Sustainable-and-Profitable

ปัจจุบัน หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามอันเกิดจากความไม่สมดุลของปริมาณน้ำฝนและภัยแล้ง ซึ่งประเทศต่างๆ กำลังดำเนินการแก้ไขและป้องกันเพื่อสนับสนุนแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในหัวข้อ SDG 6 (Clean Water and Sanitation) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนมีน้ำไว้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและมีการจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน

การดำเนินงานขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถดำเนินการเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ และยังสามารถดำเนินการเปิดเผยข้อมูลที่เรียกว่า ESG ได้อีกด้วย ซึ่งก็คือ การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลองค์กร (Environment Social Governance: ESG) อันหมายถึง การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิด เป้าหมาย พัฒนาการ และผลการดำเนินงานสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลองค์กร ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกกันว่ารายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่งนิยมเปิดเผยเป็นรายปี

อย่างไรก็ตาม หลายองค์กรอาจมีความกังวลว่าจะได้รับประโยชน์หรือไม่จากการเปิดเผยข้อมูล ESG และเมื่อดำเนินการแล้วจะมีบทบาทต่อสมรรถะทางการเงินขององค์กรอย่างไร วารสาร MIT Sloan Management Review ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ได้ให้ข้อมูลว่าการดำเนินการเหล่านั้น เป็นเรื่องที่องค์กรสามารถบริหารจัดการได้ซึ่ง ESG เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดสินใจลงทุน จึงมีส่วนช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการลงทุนในระยะยาว แต่หากองค์กรทั่วโลกไม่สนับสนุนให้องค์กรลงทุนแล้วก็เป็นการยากที่โลกของเราจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) อย่างไรก็ตาม เราสามารถดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ง่ายกว่าที่คิดไว้

เพื่อสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสนับสนุน SDG 6 ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวทางการรายงานข้อมูลความยั่งยืนขององค์กรด้านน้ำ หนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการจัดทำรายงาน Global Reporting Initiative (GRI)  ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรเข้าใจผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ภาพรวมการใช้น้ำขององค์กร และวิธีการบริหารจัดการน้ำ โดยกำหนดให้องค์กรรายงานข้อมูลปริมาณน้ำที่มีการดึงมาใช้จากแหล่งน้ำต่างๆ  รายงานปริมาณการระบายน้ำ และปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ ขององค์กร

สำหรับขั้นตอนการเขียนรายงาน GRI ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ขั้นตอน คือ การเตรียมการภายในองค์กร (Prepare) การพูดคุยหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกองค์กร (Connect) การกำหนดเป้าประสงค์และเนื้อหารายงาน (Define) การติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น (Monitor) และการลงมือเขียนรายงาน (Report) ตามลำดับ โดยมีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับปริมาณการใช้น้ำและการระบายน้ำ ดังนี้

  1. GRI 303: น้ำและการระบายน้ำออก (Water and Effluents)
    • การเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางการจัดการ (Management Approach Disclosures)  องค์กรจะต้องอธิบายถึงแนวทางในการจัดการน้ำขององค์กร  และการเปิดเผยเฉพาะข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องการปริมาณการใช้ และการระบายน้ำทิ้งต่างๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
      • การเปิดเผยข้อมูล 303-1 การใช้ทรัพยากรน้ำที่ใช้ร่วมกัน
      • การเปิดเผยข้อมูล 303-2 การจัดการผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยน้ำ
    • การเปิดเผยเฉพาะหัวข้อ (Topic-specific Disclosures)
      • การเปิดเผยข้อมูล 303-3 การดึงน้ำมาใช้จากแหล่งน้ำต่างๆ
      • การเปิดเผยข้อมูล 303-4 การปล่อยน้ำ
      • การเปิดเผยข้อมูล 303-5 การใช้น้ำ
  1. GRI 306: การระบายน้ำออก และการจัดการของเสีย (Effluents and Waste)
    • การเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางการจัดการ (Management Approach Disclosures) องค์กรจะต้องมีการอธิบายถึงแนวทางการจัดการน้ำทิ้ง และการจัดการของเสีย ขององค์กร รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ การบำบัดและกำจัดของเสีย
    • การเปิดเผยเฉพาะหัวข้อ (Topic-specific Disclosures)
      • การเปิดเผยข้อมูล 306-1 การระบายน้ำออก แยกตามคุณภาพและปลายทางการปล่อย
      • การเปิดเผยข้อมูล 306-2 ของเสียตามประเภทและวิธีการกำจัด
      • การเปิดเผยข้อมูล 306-3 การรั่วไหลที่สำคัญ
      • การเปิดเผยข้อมูล 306-4 การขนส่งของเสียอันตราย
      • การเปิดเผยข้อมูล 306-5 แหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากระบายออก และ/หรือล้นออก

การรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะการใช้น้ำตามกรอบการรายงานความยั่งยืนตามแนวทางสากล GRI ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่สามารถดึงดูดผู้ลงทุน ทำให้ลดความเสี่ยงจากการลงทุนในระยะยาว แสดงถึงความโปร่งใส และเพิ่มความเชื่อมั่นให้ธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคการบริการที่มีการใช้น้ำปริมาณมาก อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้แนวคิดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน SDG 6 เพื่อให้โลกของเราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 ต่อไป

ที่มา :  

  1. https://www.globalreporting.org/standards/resource-d ownload-center
  2. https://sloanreview.mit.edu/article/supporting-sustainable-development-goals-is-easier-than-you-might-think/